xs
xsm
sm
md
lg

“Shrinkflation” ทุบผู้บริโภค จ่ายมากขึ้นได้น้อยลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - อิปซอสส์ชี้ ภาวะเงินเฟ้อครองอันดับหนึ่งความกังวลคนทั่วโลกต่อเนื่องกว่า 20 เดือนยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดภาวะ Shrinkflation ในหมู่ธุรกิจจนกลายเป็นกระแสพาดหัวข่าวไปทั่วโลก 26% ของคนไทยไม่ยอมรับการลดขนาดสินค้า แม้ราคาจะคงเดิม อิปซอสส์ชี้ผลกระทบภาคธุรกิจ 6 กลุ่ม: กลุ่มธุรกิจ CPG, กลุ่มธุรกิจบริการ, กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มบริการด้านการเงิน, กลุ่มสาธารณูปโภค, และกลุ่มสื่อและบันเทิง

บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (Ipsos Ltd.) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ผู้ให้บริการงานวิจัยครบวงจร ได้เปิดเผยถึงรายงานการศึกษาชุดพิเศษ “What worries Thailand ชุด 2 ของปี 2566 พร้อมกระแส Shrinkflation” ที่กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก
 


นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด กล่าวว่า “อิปซอสส์ได้จัดทำผลสำรวจเกี่ยวกับความกังวลของชาวโลกและคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะเงินเฟ้อ ยังคงเป็นความกังวลสูงสุดของประชากรโลก และต่อเนื่องมายาวนานถึง 20 เดือน เป็นประเด็นที่คงอยู่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ในการทำการสำรวจตั้งแต่ อิปซอสส์ เคยทำการศึกษามา และภาวะ Shrinkflation ที่เป็นเทคนิคของกลุ่มธุรกิจในการอยู่รอด ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในขณะนี้

โดยภาพรวมปัญหาหลักที่สร้างความกังวลใจสูงสุด คือ ภาวะเงินเฟ้อ ตามด้วยความรุนแรงและอาชญากรรม ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม การว่างงาน การเงิน และคอร์รัปชันทางการเมือง

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวโน้มความกังวลใจสูงุสุด 5 อันดับของประชากรไทยยังคงเป็นความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม การทุจริตทางการเงินหรือการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ การว่างงาน และความรุนแรงและอาชญากรรม โดยผลสำรวจในเดือนล่าสุดพบอัตราส่วนที่ 43%, 40%, 35%, 24%, และ 23% ตามลำดับ


ความกังวลด้านสังคมที่นำมาเป็นอันดับหนึ่งมีการสะท้อนให้เห็นในผลสำรวจอื่นๆ ของอิปซอสส์ เช่น ในแบบสอบถามเกี่ยวกับ ESG ผู้บริโภคไทยมีการเชื่อมโยงเรื่องสังคมกับ ‘ความยั่งยืน’ มากที่สุด ขณะเดียวกัน ‘นักการเมือง’ ยังคงเป็นอาชีพที่คนไว้วางใจน้อยที่สุดในโลกรวมถึงในประเทศไทย และ ‘แพทย์’ ครองตำแหน่งอาชีพที่น่าเชื่อถือมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยที่กระทบสูงสุด คือ ภาวะเงินเฟ้อ ผู้คนต้องดิ้นรนต่อสู้กับภาวะวิกฤตด้านค่าครองชีพ แต่ยังพอมีความหวังกับเศรษฐกิจในอีกครึ่งปีข้างหน้า

ครึ่งหนึ่งของประชากรชาวไทยเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจเข้าขั้น “แย่” กว่า 6 ใน 10 มีสมาชิกในครอบครัวและคนใกล้ตัวตกงาน และ 50% ของคนไทยมั่นใจปีหน้าราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นแน่นอน


เมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ความเชื่อมั่นในมุมมองของประชากรไทยต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเดือนเมษายนของปีนี้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอยในอัตรา 72% ลดลงเป็น 61% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ คนไทย 50% เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศในปัจจุบันเข้าขั้น “แย่” ลดลงจาก 57% ในเดือนเมษายน 2566

แม้ว่ากว่า 6 ใน 10 (61%) ของคนไทยกล่าวว่า มีคนในครอบครัว หรือคนที่พวกเขารู้จักเป็นการส่วนตัว ได้ตกงาน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ประมาณครึ่งหนึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนรวมถึงสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ส่วนในแง่ของการใช้จ่ายและการครองชีพ นางสาวอุษณาเปิดเผยเพิ่มเติมว่า “50% ของประชาชนคนไทยมองว่า “ราคา” สินค้า และบริการในปีหน้าจะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน


Shrinkflation กลายเป็นกระแส เป็นภาวะจ่ายมากขึ้นแต่ได้ของน้อยลง
สถานการณ์ Shrinkflation กลายเป็นพาดหัวข่าวในปีนี้ ภาวะจ่ายมากขึ้นแต่ได้ของน้อยลงกลายเป็นประเด็นใหญ่ในหมู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤตค่าครองชีพ ธุรกิจมักมีการปรับลดขนาดสินค้า ลดปริมาณ หรือ ปรับส่วนผสม ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “เทคนิคการตลาดที่หลอกลวง” ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีการลดขนาดลง

ในกรณีนี้ จากการสำรวจพบว่า จำนวน 39% ของผู้บริโภคชาวไทยสังเกตุเห็นขนาดสินค้าเล็กลงแต่ราคาคงเดิม และจำนวน 57% ทราบว่าต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ขนาดสินค้าเท่าเดิม และจำนวน 29% สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมที่ใช้ในอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยที่ราคาคงเดิม


*** โดยสินค้า 10 อันดับที่คนไทยสังเกตว่ามีการลดขนาดหรือปริมาณ ได้แก่
- จำนวน 52% ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดกรอบ เพรตเซล ฯลฯ)
- จำนวน 50% กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (อาหารแช่แข็งหรืออาหารสด พิซซา ฯลฯ)
- จำนวน 46% ช็อกโกแลตและขนมหวาน
- จำนวน 40% ผักสด / ผลไม้
- จำนวน 36% ของว่างแช่แข็ง / ไอศกรีม / ของหวานแช่แข็ง
- จำนวน 34% เครื่องดื่มไม่อัดลม (น้ำผลไม้ น้ำหวาน ฯลฯ)
- จำนวน 34% ขนมปัง
- จำนวน 31% เนื้อสดหรือแช่แข็ง
- จำนวน 31% นม / เครื่องดื่มนม
- จำนวน 30% กาแฟ

ทั้งนี้ 50% ของคนไทยคิดว่าการที่ธุรกิจและผู้ค้าปลีกทำการลดขนาดผลิตภัณฑ์ โดยยังคงราคาเท่าเดิมเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 22% อย่างมีนัยสำคัญ


*** ความสามารถในการจัดการด้านการเงินของคนไทย กับอัตราเฉลี่ยของโลก
กว่าครึ่งของประชากรไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการด้านการเงินของคนไทยใน 5 ระดับ คือ โดยเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่าง อัตราเฉลี่ยของโลก กับคนไทย คือ กลุ่มคนมีชีวิตสะดวกสบาย 10 : 7 จัดการได้ดีในสัดส่วน 28 : 26 พอจัดการให้รอดไปได้ 33 : 45 รู้สึกว่าจัดการได้ยาก 17 : 14 และรู้สึกว่าจัดการได้ยากมาก 10 : 6 ตามลำดับ
ในแง่ของค่าใช้จ่าย ผลการศึกษาพบว่าคนไทยคาดการณ์กลุ่มสินค้าอาหาร / ของใช้ในครัวเรือน ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีราคาสูงขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยคนไทยเชื่อว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น มาจากปัจจัยหลักเหล่านี้
- จำนวน 77% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ
- จำนวน 77% นโยบายของรัฐบาลแห่งชาติ
- จำนวน 76% สภาวะของเศรษฐกิจโลก
- จำนวน 75% คนงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น
- จำนวน 74% ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป


*** คนไทยโดยสรุป
- จำนวน 20% มีความยากลำบากทางด้านการเงิน ลดลง 5 จุดเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566
- จำนวน 26% ยอมรับไม่ได้กับธุรกิจและผู้ค้าปลีกที่ลดขนาดสินค้า แม้ราคาคงเดิม หรือที่เรียกว่า Shrinkflation
- จำนวน 59% คิดว่าค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า ลดลง 6 จุดจากเดือนเมษายน
- จำนวน 12% อัตราเงินเฟ้อจะไม่กลับสู่ภาวะปกติในประเทศของตน ลดลง 2 จุดจากเดือนเมษายน 2566
- จำนวน 15% คิดว่ามาตรฐานการครองชีพของพวกเขาจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีหน้า ลดลง 5 จุดจากเดือน เมษายน


*** อิปซอสส์ชี้ผลกระทบภาคธุรกิจ 6 กลุ่ม: กลุ่มธุรกิจ CPG, กลุ่มธุรกิจบริการ, กลุ่มค้าปลีก, กลุ่มบริการด้านการเงิน, กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มสื่อและบันเทิง

กลุ่มธุรกิจ CPG
แม้จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านจะเพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ แต่แบรนด์ยังคงต้องระมัดระวังในเรื่องของวิธีการลดต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรักษากำไร 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 33 ประเทศทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขารับไม่ได้หากธุรกิจและร้านค้าปลีกต่างๆ ลดขนาดผลิตภัณฑ์ของตนลงในขณะที่ยังคงราคาไว้เท่าเดิมเพื่อตอบสนองต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และ 62% เชื่อว่าการที่ ‘ธุรกิจทำกำไรมากเกินไป’ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ แบรนด์จึงต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้บริโภค เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบมากจนเกินไป

กลุ่มธุรกิจบริการ (Hospitality)
ผู้บริโภคในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการออกไปสังสรรค์ (ตามร้านอาหาร, บาร์, โรงภาพยนต์) จะสูงขึ้นในช่วงปีหน้า ความคาดหมายเหล่านี้ของผู้บริโภคจึงเท่ากับความสำคัญที่มากขึ้นของประสบการณ์ (Experience)


กลุ่มค้าปลีก (Retail) ผู้บริโภคที่คิดว่ารายได้หลังหักภาษี (Disposable Income) หรือรายรับที่จับจ่ายได้ ‘จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า’ มีจำนวนมากขึ้น ขณะที่จำนวนคนที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและของใช้ในบ้านในปีหน้ามีสัดส่วนต่ำที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor ผู้คนเริ่มสังเกตเห็นขนาดสินค้าที่ลดลงตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เกต และมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยในหลายประเทศที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้ และมีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศที่เข้าข้างผู้บริโภคและเริ่มจับตามองผู้ผลิตมากขึ้น

กลุ่มบริการด้านการเงิน Financial Services
อัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจโลกถูกมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพ อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนน้อยลงที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศของพวกเขาจะสูงขึ้น ขณะที่คนที่คาดว่าค่าผ่อนหรือเช่าที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นมีจำนวนไม่ต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ เราอาจเห็นการรีไฟแนนซ์น้อยลงในประเทศที่ ‘อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่’ มีความแพร่หลาย มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่คาดว่าจะมีเงินใช้จากรายรับหลังหักภาษีมากขึ้นในปีหน้า แต่ความกังวลทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมยังทำให้พวกเขาออมเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับช่วงคับขันที่อาจเกิดขึ้น


กลุ่มสาธารณูปโภค Utilities
โดยเฉลี่ย 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศคาดว่าค่าบริการสาธารณูปโภคจะเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่ค่อยต่างจากช่วงเดือนเมษายนแต่ลดลงถึง 9% จากปี 2565 อย่างไรก็ตาม มีผู้คนในหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะชาวยุโรปที่คาดว่าค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน
กลุ่มสื่อและบันเทิง Media and Entertainment
โดยเฉลี่ย 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามใน 33 ประเทศคาดว่าค่าสมัครใช้บริการ (Subscriptions) ต่างๆ จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า เพิ่มขึ้น 4% จากการทำแบบสอบถามรอบก่อนในเดือนเมษายน และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ Ipsos Inflation Monitor การที่มีสมาชิกบริการสตรีมมิ่งเริ่มลดลงในหลายประเทศ จึงทำให้ ‘ความคุ้มค่า’ เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการควรคำนึงถึงมากขึ้นในปีหน้า








กำลังโหลดความคิดเห็น