xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตสาหกรรมร่วมส.อ.ท.ยกระดับภาคการผลิตผ่าน6แนวทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมผนึก “ส.อ.ท.” เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยปรับไปสู่ความยั่งยืน  โดยเบื้องต้นเร่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมผ่าน 6 แนวทาง

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประชุมร่วมกับ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่ง
ประเทศไทย(ส.อ.ท.) เป็นประธานร่วมประชุมฯ เพื่อหารือแนวทางการทำงานของคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม เพื่อรื้อฟื้นการทำงานร่วมกันหลังจากที่เว้นว่างไปกว่า 3 ปี

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน คือ การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และการปรับไปสู่อุตสาหกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงกติกาสากล  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีตัวแทนระหว่างทั้งสองหน่วยงานดำเนินการร่วมกัน

“ประธานส.อ.ท. ได้มอบรายงานข้อเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดรูปธรรมของการดำเนินการโดยเร็ว ดร.ณัฐพล กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้บรรลุแนวทางการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ผ่าน 6 แนวทาง คือ 1. การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่าน One Stop Service บูรณาการด้านกฎหมายให้เกิดความชัดเจนและความรวดเร็วในการดำเนินงาน

2.การส่งเสริมการส่งออก การค้า และการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve สนับสนุนการเจรจากับประเทศคู่ค้า การปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ ตลอดจนสร้างกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ เพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ถูกขับเคลื่อนอย่างชัดเจนไปแล้ว ให้มีการลงทุนและผลิตในประเทศ และได้ประโยชน์จากนโยบาย Made in Thailand (MIT) เพิ่มเติมมากขึ้น

3. การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต (Manufacturing Productivity) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือพร้อมค่าแรงสูงรองรับเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0

4.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ผลักดันภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการใช้วัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ร่วมมือในภารกิจ “End of Waste” ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวและสร้างระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

5.การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีความเข้มแข็งและมีสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านมาตรการทางการเงิน การเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางการเงิน และการส่งเสริมการตลาดผ่านกลไการจัดซื้อของภาครัฐต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ (Automation & Robotic) มาลดต้นทุนในการผลิต และแก้ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน เสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน

6.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม ผ่านการขับเคลื่อนการปรับปรุงผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้พื้นที่เกษตรสามารถรองรับอุตสาหกรรม โดยร่วมกันพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อให้เห็นแนวทางของการยกระดับรายได้ของภาคการเกษตรด้วยหลักบริหารจัดการแบบอุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงเครือข่ายกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่ สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น