xs
xsm
sm
md
lg

9 เดือนยอดขอรับส่งเสริมทะลุ 5 แสนล้าน บอร์ด BOI เคาะยกระดับอุตฯ ยานยนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,555 โครงการ 516,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ขณะที่ FDI จีนครองอันดับ 1 บอร์ดเคาะมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ยกเว้นภาษี 3 ปี สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ พร้อมอนุมัติตั้ง สนง.ต่างประเทศ 3 แห่ง ดึงลงทุนเชิงรุก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
เปิดเผยว่า ตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน 2566) มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,555 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31% และมูลค่าเงินลงทุน 516,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น

ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 366,188 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอจำนวน 171 โครงการ เงินลงทุน 208,288 ล้านบาท รองลงมาอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีคำขอจำนวน 213 โครงการ เงินลงทุน 55,778 ล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีคำขอจำนวน 151 โครงการ เงินลงทุน 42,200 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 910 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49% เงินลงทุน 398,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% โดยโครงการจากจีนมีเงินลงทุนมากที่สุด 97,464 ล้านบาท รองลงมาสิงคโปร์ 80,261 ล้านบาท และญี่ปุ่น 43,154 ล้านบาท ตามลำดับ ในแง่พื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 552 โครงการ เงินลงทุน 231,660 ล้านบาท

"ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,299 โครงการ เงินลงทุนรวม 334,915 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ยโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 6 เดือนถึง 2 ปีภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม” นายนฤตม์กล่าว

นายนฤตม์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567


พร้อมกันนี้ บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ เพื่อดึงการลงทุนเชิงรุกและยังเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การปลดล็อกธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ 2) การขยายขอบเขตและอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรต่างชาติ 3) การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม 4) การจัดหาพลังงานสะอาด และ 5) การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้บีโอไอประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,991 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสุโขทัย และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 4,185 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสระแก้ว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)
กำลังโหลดความคิดเห็น