สกสว. สอวช. บพท. ร่วมหารือ “กระทรวงดีอี” ขับเคลื่อน Korat Smart City สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชู มันสำปะหลัง ยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผลักดัน Korat Smart City ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สภาอุตสาหกรรม สภาเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนจังหวัดนครราชสีมาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน โอกาสนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นำโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. และ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ บพท. ร่วมการประชุม
นอกจากการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดีอี แล้ว โอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้บริหาร สกสว. สอวช. และ บพท. ได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และพื้นที่เกี่ยวข้อง ต่อเป้าหมายและความคาดหวังการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC - Bioeconomy) ด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อรับฟังทิศทางแนวทางของเอกชนในพื้นที่ รวมถึงความคาดหวังต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ความต้องการของพื้นที่ และประเด็นโจทย์ด้าน ววน. ของกลุ่มเป้าหมาย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครราชสีมา และพื้นที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอแนวทางในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ รวม 6 แนวทาง ประกอบด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูง เช่น การแปรรูปมันสำปะหลัง (Modify) เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่สูงขึ้นตามการดัดแปลง การนำไปใช้ผลิตพลังงานสะอาด การพัฒนาเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ที่เชื่อมโยงระหว่างฐานทรัพยากรธรรมชาติและระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานขององค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจการขนส่ง (Logistics) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสูงวัย และ การพัฒนาเศรษฐกิจการเงินและการลงทุน กับการพัฒนาเมือง (Smart City) ในส่วนนี้ สกสว.จะนำกลับไปพิจารณา และจัดทำแผนงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อดำเนินการในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ให้สอดคล้องกับแนวทางที่เสนอ รวมถึงจุดมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการพัฒนาบุคลากรด้านเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป