xs
xsm
sm
md
lg

ขบ.จับมือ รฟท.นำร่อง 2 โปรเจกต์เชื่อมขนส่งสินค้าทางราง-ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ ไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขบ.-รฟท. MOU เชื่อมขนส่งสินค้าทางราง-ทางบกไร้รอยต่อ นำร่องศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ เชียงของจ.เชียงราย และ จ.นครพนม ชิฟต์โหมดถนนสู่รางผ่านรถไฟทางคู่ "เด่นชัย-เชียงของ" และ "บ้านไผ่-นครพนม" คาดเปิดเต็มรูปแบบปี 71

วันที่ 24 พ.ย. 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางรางอย่างไร้รอยต่อ ระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน โดยนำร่องพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม สนับสนุนระบบรางให้เป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน-ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ ขบ.และ รฟท. รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและผู้ใช้บริการ รวมทั้งเร่งรัดให้สามารถเปิดให้บริการโครงการต่างๆ ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน ช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาคต่อไป

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขบ.มีแผนในการลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าทางถนน เพื่อรองรับกิจกรรมการรวบรวมและกระจายสินค้า บนเส้นทางยุทธศาสตร์และพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในเมืองหลักและจังหวัดชายแดนทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ให้สถานีขนส่งสินค้าสามารถสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งกับระบบราง

โดย ขบ.และ รฟท.ได้ร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ เพื่อกำหนดการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยวางโครงข่ายระบบรางเชื่อมเข้าในพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ เชียงของจะมีรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของเชื่อมต่อ ส่วนศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มีรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนมเชื่อมต่อ

ภาพโครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย
โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขบ.ได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 1 วงเงิน 1,300 ล้านบาท เสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 วงเงิน 660 ล้านบาท และอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP) ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อเข้ามาลงทุนจัดหาอุปกรณ์บริการขนถ่ายสินค้า และให้บริหารจัดการขนส่งสินค้า ระยะเวลาสัญญา 15 ปี โดยขณะนี้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและเปิดให้บริการในเดือนเม.ย. ปี 2567

ส่วนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในรูปแบบการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) โดย ขบ.ลงทุนในการปรับสภาพพื้นที่ ส่วนเอกชนรับผิดชอบก่อสร้างอาคารพื้นฐานและ อุปกรณ์บริการขนถ่ายสินค้า และให้บริหารจัดการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้า 32.60% โดยมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568

ภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์ขนส่งชายแดน  จ.นครพนม
โดยทั้งสองโครงการฯ จะรองรับการเชื่อมต่อกับระบบรางผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่อย่างไร้รอยต่อเต็มรูปแบบเมื่อระบบรางก่อสร้างเสร็จในปี 2571

“ศูนย์การขนส่งชายแดนฯ เชียงราย และนครพนมจะรองรับสินค้าขาเข้า และขาออก พร้อมบริการด้านศุลกากร การตรวจปล่อยครบวงจร โดยสามารถกระจายสินค้าทางบก และทางรางได้เมื่อรถไฟเสร็จ ระบบรางจะเป็นกระดูกสันหลังในการขนส่งเชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง จะเป็นประตูการค้าเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน”

โดยระบบรางมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำกว่าทางถนน โดยเฉพาะการขนส่งระยะทางไกล เชื่อว่าผู้ประกอบการชิฟต์โหมดจากถนนมาใช้ระบบราง แต่หากเป็นระยะทางใกล้ ผู้ประกอบการอาจจะเลือกใช้การขนส่งทางถนน เพราะขนส่งแบบ Door to Door แต่เชื่อว่าเมื่อระบบรางสมบูรณ์ จะมีสัดส่วนขนส่งสินค้าที่สูงกว่าทางถนน และถนนจะปรับเป็นฟีดเดอร์ส่งต่อราง

ภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์ขนส่งชายแดน  จ.นครพนม
นายจิรุตม์กล่าวว่า ศูนย์ขนส่งสินค้าและระบบรางที่เชื่อมต่อกันอย่างไรแล้วตอนนี้จะรองรับการขนส่งสินค้าในสามมิติ คือ1. มิติสินค้านำเข้า/ส่งออก โดยสินค้านำเข้า จากจีน, ลาว เข้ามาโดยรถยนต์จะเปลี่ยนถ่ายสู่ราง กระจายในประเทศไทย ส่วนสินค้าส่งออกจะมาทางราง เปลี่ยนถ่ายสู่รถยนต์ไปยังจีน และลาว 2. มิติสินค้าผ่านแดน เช่น สินค้าจากจีนตอนใต้ผ่านไทย ชิฟต์โหมดลงราง ไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 และ 3. มิติขนส่งวัตถุดิบเข้ามาแปรรูปในประเทศไทย เช่นในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมูลค่าแล้วส่งออกท่าเรือแหลมฉบัง โดยไทยได้ประโยชน์ เช่น ค่าบริการด้านโลจิสติกส์ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ขบ.ยังได้ศึกษาพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งยังไม่มีโครงข่ายรถไฟเชื่อม และศูนย์การขนส่งสินค้าจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งมีระบบรางผ่าน นอกจากนี้ ในส่วนที่ รฟท.จะเร่งพัฒนาออกแบบและก่อสร้างคือ จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีนาทา ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งทางถนนกับราง และรางต่อราง

ภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์ขนส่งชายแดน  จ.นครพนม
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า การร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มต้นทำให้สามารถจัดการพื้นที่และออกแบบให้ทางรถไฟเข้าเชื่อมกับศูนย์การขนส่งชายแดนฯ ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการได้มาก เพราะหากไม่ออกแบบร่วมกัน สถานีรถไฟเชียงของจะอยู่ห่างจากศูนย์การขนส่งชายแดนฯ ถึง 3 กม. ซึ่งผู้ขนส่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ระบบรางจะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องร่วมมือกัน ทำให้เกิดการชิฟต์โหมดอย่างไร้รอยต่อ

โดยข้อมูลจากด่านศุลกากร ช่วงเดือนม.ค.-ก.ย. 2566 สถิติการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านพรมแดนเชียงของมูลค่า 61,453 ล้านบาท ผ่านด่านพรมแดนนครพนมมูลค่า 94,650 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น