“สุริยะ” นั่งหัวโต๊ะถกร่วม "กทม.-ตำรวจ" สางปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน เตรียมแก้ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ เพิ่มค่าปรับจากไม่เกิน 1 หมื่นเป็น 1-2 แสนบาทแบบขั้นบันได ชี้รถบรรทุกเสี่ยงแบกน้ำหนักเพราะค่าปรับถูก และให้อำนาจตำรวจจราจรมีสิทธิ์จับกุมในพื้นที่ กทม.
วันที่ 23 พ.ย. 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พลตำรวจตรี ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พันตำรวจเอก สุมรภูมิ ไทยเขียว รองผู้บัญชาการตำรวจทางหลวง ผู้แทนกรุงเทพมหานคร และนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ร่วมหารือที่กระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไข โดยข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และพบว่ายังมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ สามารถป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น ผลักดันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาจะต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานทุกขั้นตอนต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต ซึ่งขอย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ต้องพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติอย่างรอบด้าน ซึ่งเบื้องต้นมี 3 ประเด็น คือ 1. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจากการวิเคราะห์เห็นว่าค่าปรับยังต่ำเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการยอมเสี่ยงบรรทุกน้ำหนักเกินผิดกฎหมาย เพราะคุ้มกว่าหากต้องจ่ายค่าปรับ จึงมอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการแก้กฎหมายโดยปรับปรุงบทลงโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น เบื้องต้นอาจจะปรับเป็น 1-2 แสนบาท โดยจะกำหนดอัตราค่าปรับตามน้ำหนักที่บรรทุกเกินหรือปรับแบบขั้นบันได ส่วนโทษจำคุก ให้พิจารณาว่าควรจะมีหรือไม่
“มั่นใจว่าเมื่อเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้น จะทำให้แก้ปัญหาเรื่องบรรทุกน้ำหนักเกินได้ผล ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถบรรทุกรู้ว่าจะแบกน้ำหนักเกินได้ ดังนั้นตอนเสนอราคาประมูลจึงเสนอราคาที่แบกน้ำหนัก หากต่อจากนี้ กฎหมายเพิ่มโทษแน่นอน และมีการตรวจจับกุมที่เข้มแข็ง ผู้ประกอบการจะเสนอราคาที่ไม่มีการแบกน้ำหนัก จะทำให้ถนนพังช้าลง ซึ่งแต่ละปีรัฐต้องเสียงบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดยกรมทางหลวง 2.6 หมื่นล้านบาท/ปี กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี หากแก้เรื่องน้ำหนักเกินได้จะสามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปพัฒนาด้านอื่นได้”
นายสุริยะกล่าวว่า ที่กำหนดค่าปรับแบบขั้นบันไดเพราะอาจจะมีที่น้ำหนักเกินไม่มาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเครื่องชั่งไม่เสถียร หรือไม่มีเจตนา ค่าปรับน้อยหน่อย แต่กรณีกำหนด 21 ตัน แต่แบกมา 35 ตัน พวกนี้ถือว่าจงใจ นอกจากนี้ทางตำรวจเสนอให้กำหนดผู้ที่จะถูกปรับให้ชัดเจน เช่น เจ้าของรถ/ผู้ประกอบการ ไม่ใช่ปรับคนขับเพราะสุดท้ายคือไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ คาดว่าจะใช้เวลาในการนำเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ทางหลวงประมาณ 1 ปี เนื่องจากจะต้องเสนอสภาพิจารณาด้วย โดยในระหว่างนี้ได้เน้นกับผู้ประกอบการเอกชนให้เข้มงวด ห้ามบรรทุกน้ำหนักเกิน
2. เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยการเพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ในการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจและกรมทางหลวง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการติดตามกรณีรถบรรทุกไม่เข้าด่านชั่ง โดยจะเพิ่มยานพาหนะในการติดตามรถฝ่า และเร่งเพิ่มระบบเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้ในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion System ; WIM)
3. นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เพื่อช่วยในการติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และการบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
@เตรียมมอบอำนาจให้ตำรวจจราจรมีสิทธิ์จับกุมในพื้นที่ กทม.
ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งตำรวจจราจรไม่มีอำนาจจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากพ.ร.บ.ทางหลวงไม่ให้อำนาจไว้ เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะทำเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อมอบอำนาจให้ทาง บช.น. (ตำรวจจราจร) เป็นเจ้าพนักงานในการจับกุมได้ ซึ่งอยู่ในมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ ที่ให้ รมว.คมนาคมมีอำนาจในการแต่งตั้ง โดยลงนามในประกาศในขณะที่ทาง กทม.จะติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักเพิ่มด้วย เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาในกทม.โดยเฉพาะเส้นทางแนวขอบ กทม.10 กว่าสายทางที่มีรถบรรทุกวิ่งค่อนข้างมากได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ทางเอกชนเสนอให้ตั้งคณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชน โดยมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในระยะยาว จะสนับสนุนให้ใช้การขนส่งทางรางมากขึ้นหลังจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีค่าขนส่งที่ถูกกว่า
“เชื่อว่ามาตการโดยเฉพาะการเพิ่มค่าปรับให้สูง ซึ่งหลายประเทศใช้นั้นจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ ส่วนส่วยสติกเกอร์ก็เชื่อว่าจะแก้ได้เช่นกัน เพราะทางตำรวจมีส่วนแบ่งค่าปรับที่มากขึ้นกว่าเดิมเป็นแรงจูงใจ”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2549 กรณีน้ำหนักบรรทุก กำหนดบทลงโทษไว้ใน 2 มาตรา คือมาตรา 61 “รถจะต้องน้ำหนักไม่เกินกว่าที่กำหนด และมาตรา 73/2 กำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน ค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแนวทางคือการแก้มาตรา 73/2 คือเพิ่มบทปรับให้สูงขึ้น ส่วนจะเป็นเท่าไรจะมีการหารือร่วมกันต่อไป
สำหรับการเพิ่มค่าปรับนั้น เดิมกรมทางหลวงเคยมีการศึกษาไว้เมื่อปี 2557 ช่วงที่เกิดกรณีการเพิ่มน้ำหนักรถบรรทุกพ่วง จาก 50.5 ตันเป็น 56 ตัน โดยกรมทางหลวงจะนำผลการศึกษาดังกล่าวมาพิจารณาประกอบเพื่อให้เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในโครงข่ายทางหลวงกว่า 50,000 กม. หากจะตรวจน้ำหนักรถบรรทุกทุกคันจะต้องใช้ระบบเครื่องชั่งที่สามารถชั่งน้ำหนักได้ในขณะรถวิ่ง (WIM) 960 แห่ง ซึ่งปัจจุบันติดตั้งแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง เหลืออีก 757 แห่ง ซึ่ง ทล.มีแผนทยอยจัดตั้งงบประมาณทุกปี โดยจะติดตั้งจุดสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ทั้งนี้อาจจะไม่ต้องติดตั้งให้ครบทั้งหมด โดยใช้วิธีการและมาตรการลงโทษ
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป จดทะเบียนรวมกว่า 1 ล้านคัน หากแยกเฉพาะรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไปมีกว่า 4 แสนคัน ซึ่งกรมการขนส่งฯ ได้ดำเนินการให้ติดตั้งระบบ GPS Tracking เพื่อติดตามทั้งหมด และได้เชื่อมต่อระบบกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เรียบร้อยแล้ว ส่วนตำรวจสอบสวนกลางอยู่ระหว่างเชื่อมต่อระบบ