xs
xsm
sm
md
lg

OR ลั่นปี 67 โตต่อเนื่อง ย้ำค่าการตลาดไม่เกิน 2 บาท/ลิตร พร้อมให้รัฐตรวจสอบ-อัดงบ 50 ล้านดอลล์ลงทุนในกัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



OR ชี้ปี 67 เป็นปีที่ดีโตต่อเนื่อง มียอดขายโตกว่า GDP และบริหารสต๊อกน้ำมันให้เหมาะสม ยืนยันค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ย 2 บาท/ลิตร พร้อมให้ก.พลังงานตรวจสอบ เตรียมจับมือพันธมิตรต่างชาติรุกธุรกิจ Health & Wellness เร็วๆ นี้ พร้อมอัดงบลงทุน 5 ปี (67-71) ในกลุ่มธุรกิจ Global ราว 8 พันล้านบาท แย้มปีหน้าเทงบลงทุนในกัมพูชา 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.7 พันล้านบาท ใช้ปั๊มน้ำมัน ร้าน Café Amazon รวมทั้งสร้างคลัง LPG ความจุ 2,200 ตันเพื่อเจาะตลาดอุตสาหกรรม

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยแนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทคาดว่าจะเป็นปีที่ดีของธุรกิจ โดยมียอดขายน้ำมันเติบโตกว่าการขยายตัว GDP +1% จากปีนี้ที่ไทยมีการเติบโต GDP ราว 2.8-2.9% ยอดการขายน้ำมันจะโตประมาณ 4% รวมทั้งบริษัทเน้นการบริหารสต๊อกน้ำมันให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน แต่จะเห็นการมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน พร้อมนำเทคโนโลยี Dashboard มาใช้ทำให้รับรู้ผลกำไรขาดทุนได้ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจขยายการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) และเร็วๆ นี้จะมีการลงนามบันทึกช่วยจำ (MOU) กับบริษัทเกาหลีและญี่ปุ่นในธุรกิจ Health & Wellness คาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนในไตรมาส 1/2567

สำหรับแผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศของ OR นั้น ในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างความสำเร็จและความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ซึ่ง OR ได้วางกลยุทธ์ให้เป็นบ้านหลังที่ 2 บริษัทจะเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรทั้งจากประเทศไทยและพันธมิตรในพื้นที่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปในประเทศใหม่ๆ
 


นายดิษทัตกล่าวถึงกรณีกระทรวงพลังงานขอความร่วมมือในการปรับค่าการตลาดน้ำมันให้เหมาะสมไม่เกิน 2 บาท/ลิตรว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินการตามนโยบายรัฐ ดูแลค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเฉลี่ยประมาณ 2 บาทต่อลิตร โดยไม่ได้มีการบิดเบือน ซึ่งบริษัทพร้อมให้ตรวจสอบ ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมันมีการจัดเก็บภาษี สัดส่วนราว 30%, ราคาน้ำมัน 60% และค่าการตลาด 5-6%

สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรอยู่ที่ระดับ 10,900 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ระดับกว่า 600,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นไม่ถึง 2% ทั้งที่ธุรกิจ Lifestyle มีสัดส่วนกำไรมากถึง 25-30% หากเรามีอัตรากำไร 7% คงน่าสงสัยว่านี่คงคิดค่าการตลาดเยอะ เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากทำธุรกิจที่ได้ผลตอบแทนแค่ 1-2% เท่านั้น จึงอยากให้ชวนคิดว่าสัดส่วนของกำไรมันเยอะมากไปหรือไม่

สะท้อนให้เห็นว่า OR ดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ปัจจุบัน OR มีส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่ที่ 43-45% เป็นอันดับ 1 ของไทย

“ค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ย 2 บาทต่อลิตร จะแบ่งเป็นในส่วนของดีลเลอร์ราว 1 บาทต่อลิตร และอีก 1 บาทต่อลิตรเป็นค่าบริหารจัดการของ OR และเก็บไว้ลงทุน ซึ่ง OR เป็นองค์กรที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เช่น ผู้ถือหุ้น สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในหุ้นด้วย“

ทั้งนี้ OR ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) จำนวน 67,396.3 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ กลุ่มธุรกิจ Mobility 36,266.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.8% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle 17,944.5 ล้านบาท คิดเป็น 26.6% กลุ่มธุรกิจ Global 8,007.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% และกลุ่มธุรกิจ Innovation & New Business 5,178 ล้านบาท คิดเป็น 7.7%


นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ Global ของ OR วางงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-71) เอาไว้ที่ราว 8,007.4 ล้านบาทเพื่อขยายสถานีบริการ PTT Station และ Cafe Amazon และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเน้นการลงทุนในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพมาก โดยมีการเติบโต GDP ที่ 5% มีค่าการตลาดเสรี รวมทั้งการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนเมียนมาคงต้องชะลอไปก่อนเนื่องจากมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนลาว ก็มองโอกาสการทำธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าเป็นแหล่งซัปพลายเม็ดกาแฟให้ประเทศต่างๆ ในอนาคต

ส่วนเวียดนาม OR จับมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ปเข้าสู่ธุรกิจ Food and Beverage เนื่องจากเวียดนามยังไม่เปิดให้ต่างชาติลงทุนเปิดสถานีบริการน้ำมัน, ฟิลิปปินส์ ยังคงเดินหน้าจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน และขายให้อุตสาหกรรมต่างๆ


นายรชากล่าวต่อไปว่า OR วางกลยุทธ์ให้กัมพูชาเป็นบ้านหลังที่สองรองจากไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีหลังโควิดคลี่คลาย และมีเสถียรภาพทางการเมือง โดย OR ตั้งงบลงทุนกัมพูชาในปี 2567 อยู่ที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1,700 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ร้าน Café Amazon รวมทั้งสร้างคลัง LPG ในกัมพูชา ความจุ 2,200 ตัน ใช้งบลงทุนรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดต้นปีหน้าจะเริ่มเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และเปิดดำเนินการในปี 2568 เบื้องต้นจะขาย LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Battery Swapping และสถานีชาร์จไฟฟ้า EV station PluZ และกลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ 7-11 และร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” Otteri Wash & Dry เป็นต้น ส่วนโครงการร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3/2567

นายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ Managing Director บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า PTTCL มีเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์ 6 แห่ง รองรับการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันอากาศยาน และมีแผนลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ เช่น คลังน้ำมันและก๊าซ LPG โรงงานผสมยางมะตอย เป็นต้น

ในปีหน้า PTTCL มีแผนขยายสถานีบริการ PTT Station เพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง จากปัจจุบันมี PTT Station รวม 172 แห่ง ซึ่งมีมาร์เกตแชร์ 15% เป็นอันดับ 2 รองจากอันดับ 1 คือ Tela ส่วนร้าน Café Amazon ปัจจุบันมีอยู่ 231แห่ง จะเพิ่มขึ้นอีก 31 แห่งในปีหน้า โดยร้าน Café Amazon ได้รับการตอบรับจากชาวกัมพูชาเป็นอย่างดี และยังมีร้านสะดวกซื้อ 61 สาขา และร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” Otteri Wash & Dry ซึ่งเป็นการนำพันธมิตรของ OR ไปบุกเบิกตลาดร้านสะดวกซักในประเทศกัมพูชา รวมทั้งมีการนำร่องติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาสถานีบริการ PTT Station สาขา Chbar Ampov การติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ ในประเทศกัมพูชาแล้ว 3 แห่ง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น