เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน สำหรับฤดูการผลิตปี 2566/67 จะไม่มีทั้งโครงการประกันรายได้ โครงการรับจำนำ เพราะรัฐบาลมองว่าไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร และยังมีภาระด้านงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการเป็นจำนวนมาก และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาซ้ำรอยในอดีตเกิดขึ้นได้ จึงได้ปรับรูปแบบการดำเนินการ ด้วยการใช้มาตรการในการเข้าไปดูแลเพียงอย่างเดียว
มาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลสินค้าเกษตรสำคัญ ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 3 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนปาล์มน้ำมัน คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ได้พิจารณามาตรการที่จะมาใช้แล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ ครม.จะอนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาออกมาแล้ว แต่อีกด้านเกษตรกรก็ยังมีความกังวลว่ามาตรการที่ออกมานั้น จะสามารถดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากพร้อมๆ กัน
มาตรการข้าววุ่นวายก่อนถึงจะจบ
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกกว่าจะได้ข้อยุติก็ออกอาการวุ่นวายไม่น้อย เพราะเริ่มแรกเดิมทีกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับตัวแทนเกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก ได้ข้อสรุปที่จะดำเนินมาตรการข้าว 4 มาตรการ คือ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน 2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน 3. ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 10 ล้านตัน และ 4. การสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท
แต่พอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันที่ 1 พ.ย. 2566 มีมติแค่เห็นด้วยในหลักการที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ และมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณามาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลข้าว คือ มาตรการชะลอการขายข้าวเปลือก ให้ใช้กลไกสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 600 กว่าแห่งเข้ามาดำเนินการ ส่วนการรวบรวมรับซื้อข้าวโดยสถาบันเกษตรกร ให้ใช้สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ช่วยรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ หรือชดเชยดอกเบี้ย ให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ขณะที่มาตรการไร่ละพัน ยังไม่ได้มีการพิจารณา แต่เปิดทางให้มีการนำเสนอ นบข.ในการประชุมครั้งต่อไป หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้เพื่อดูแลเกษตรกร
เมื่อมติ นบข.ออกมาเช่นนี้ ทำให้เกษตรกรต่างไม่พอใจ เพราะที่เคยตกลงกันไว้ไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลง และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามที่เคยพูดคุยกันไว้ จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกัน และได้มีการนำเสนอมาตรการข้าวให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย. 2566 โดยมติ ครม.ที่ออกมาได้อนุมัติการดำเนินมาตรการข้าว 2 มาตรการ คือ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน ให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางระยะเวลา 1-5 เดือน โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ถ้าฝากเก็บในยุ้งฉางตัวเอง แต่ถ้าฝากกับสถาบันเกษตรกร สถาบันเกษตรกรได้ 1,000 บาท เกษตรกรได้ 500 บาท และโครงการให้สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยสถาบันเกษตรกรจ่าย 1% รัฐรับภาระ 3.85%
ส่วนมาตรการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณาเพราะยังหารือกันไม่จบ รวมถึงโครงการไร่ละพัน ก็ไม่ได้เสนอเช่นเดียวกัน เพราะต้องรอ 3 กระทรวงไปพิจารณาร่วมกันก่อน เนื่องจากมีวงเงินงบประมาณสูง
ต่อมา วันที่ 10 พ.ย. 2566 นายเศรษฐาได้มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุม นบข.แทน โดยที่ประชุมเห็นชอบโครงการไร่ละพัน และให้นำเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 14 พ.ย. 2566 พร้อมปรับเงื่อนไขมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยจะจ่ายค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ให้กับเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตัวเองด้วย ส่วนสินเชื่อรวบรวมข้าวปรับเงื่อนไขรัฐช่วยดอกเบี้ยเป็น 3.50-3.85% ส่วนสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% เหมือนเดิม
ทั้งนี้ ได้มีมาตรการใหม่ออกมา คือ สหกรณ์การเกษตรจะเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสดจากเกษตรกรในราคาตันละ 12,000 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นมาตรการเสริมนอกเหนือจากมาตรการที่ นบข.ได้มีมติออกมา เพื่อช่วยดูแลราคาข้าวให้เกษตรกร ส่วนข้าวที่สหกรณ์ซื้อไว้ก็จะนำไปแปรรูปหรือดำเนินการตามความเหมาะสม
ทางด้านมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อกข้าว กำหนดชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีเพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ส่งออก และผู้ประกอบการข้าวถุงตัดออก โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี ที่เหลือโรงสีรับผิดชอบ และให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วยปล่อยกู้ ซึ่งจะมีการนำเสนอกรอบวงเงินชดเชย อัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยให้ ครม.พิจารณาต่อไป
จากนั้น วันที่ 14 พ.ย. 2566 ครม.ได้อนุมัติโครงการไร่ละพัน คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรได้อย่างเร็ววันที่ 17 หรือ 20 พ.ย. 2566 และช้าสุดไม่เกิน 1 เดือน
มาตรการมันสำปะหลัง
มาตรการมันสำปะหลัง ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2566 ได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 เป้าหมาย 2 แสนตัน โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ย 3.85% สถาบันเกษตรกรรับภาระ 1% และ 2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยรัฐบาลช่วยดอกเบี้ย 3% และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับภาระ MRR-3% โดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมาย 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2566/67 ของกรมการค้าภายใน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2566/67 โดยสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอล ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาซื้อมันและเก็บสต๊อก เป้าหมาย 6 ล้านตันหัวมันสด โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 4% ต่อปี ตามระยะเวลาเก็บสต๊อก และ 2. โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมัน) โดยสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็ก 650 เครื่อง
มาตรการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทางด้านมาตรการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครม. วันที่ 7 พ.ย. 2566 ได้อนุมัติมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566/67 โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร 4% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อก และ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/67 ซึ่ง ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี รัฐบาลสนับสนุน 3.85% ต่อปี
มาตรการปาล์มน้ำมัน
สำหรับมาตรการปาล์มน้ำมัน ขณะนี้คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด ได้พิจารณามาตรการที่จะนำมาใช้ในการรักษาเสถียรภาพราคาแล้ว โดยจะช่วยเหลือค่าบริหารจัดการเพื่อระบายสต๊อกส่วนเกินกิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาท เป้าหมาย 2 แสนตัน มีเงื่อนไขสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงกว่า 3 แสนตัน และราคาในประเทศสูงกว่าตลาดโลก แต่อาจปรับเกณฑ์สต๊อกเหลือ 2.5 แสนตันได้ รวมถึงมาตรการผลักดันให้ใช้เป็นพลังงานทางเลือก โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อพิจารณา ก่อนที่จะเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป
แนวโน้มความต้องการ-สถานการณ์ราคา
จากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้ง 4 ชนิด แม้จะยังไม่สามารถวัดผลได้ว่าจะประสบความสำเร็จ ช่วยผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่การติดตามสถานการณ์ความต้องการสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิดของตลาดโลก พบว่าตลาดโลกมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลในเรื่องเอลนีโญ ที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง และความต้องการในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้ประเทศต่างๆ เพิ่มการสำรองข้าวมากขึ้น
ขณะที่มันสำปะหลัง ปัจจุบันไทยผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผลผลิตในประเทศลดลงจากปัญหาการเกิดโรคใบด่าง ทำให้สถานการณ์ด้านราคาในประเทศมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้าง ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่องเป็นปี และขณะนี้เริ่มชะลอตัวลงบ้างเพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด แต่ผลผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการเช่นเดียวกัน ทำให้สถานการณ์ด้านราคา แม้ว่าจะชะลอตัวบ้าง แต่ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ต่อไป
สำหรับปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันผลผลิตออกสู่ตลาดไม่กระจุกตัวเหมือนกับในอดีต ทำให้สถานการณ์ด้านราคาไม่ได้รับแรงกดดัน ส่งผลให้ราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง และคาดว่าราคาจะยังคงดีต่อเนื่อง เพราะมีความต้องการใช้ ทั้งบริโภคในประเทศ ใช้เป็นพลังงานทางเลือก และมีมาตรการผลักดันการส่งออกรองรับ
โดยสถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้ง 4 ชนิดที่รายงานโดยกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 14 พ.ย. 2566 พบว่ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูงทุกรายการ แม้บางรายการจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูง (ดูตารางประกอบ)
เห็นแววรุ่งมากกว่าร่วง
เมื่อพิจารณาทั้งมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาที่รัฐบาลได้อนุมัติออกมา แม้จะไม่มีทั้งโครงการประกันรายได้ และโครงการรับจำนำ บวกกับความต้องการที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการและดูแลราคาพืชเกษตรสำคัญทั้ง 4 ชนิด สำหรับฤดูการผลิตปี 2566/67 ได้เป็นอย่างดี
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมายืนยันกับเกษตรกรว่า ขอให้เบาใจลงได้ เพราะขณะนี้มาตรการดูแลสินค้าเกษตรสำคัญได้ผ่านการพิจารณาจาก ครม. มาแล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการ และเชื่อมั่นว่าจะช่วยผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้อย่างแน่นอน
ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน จะรุ่งหรือร่วง ต้องติดตามกันต่อไป