ผู้จัดการรายวัน 360 - ในโลกยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต เพราะมันนำมาซึ่งความสะดวกสบายตอบสนองคนยุ่งใหม่ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกมุมโลก ทำให้สามารถสื่อสารกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด อีกทั้งยังทำให้คนมีความเชื่อมโยงกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ด้วย ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีบทบาทต่อคนในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบไร้ขีดจำกัด
เศรษฐกิจไทย มีธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อน แม้จะเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ ในภาพใหญ่ ทว่ากลับมีความสำคัญไม่น้อย นั่นเพราะผู้ประกอบการ SME มักจะสร้างความแตกต่างด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก่อนจะก้าวย่างอย่างมั่นคงจนสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้
นายทศพร จุลโพธิ์ ประธานกรรมการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โตโก เลิฟ คืออีกคนที่ปลุกปั้นธุรกิจที่รองรับการขยายตัวของโลกดิจิทัล ด้วยการเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มดีลิเวอรีส่งอาหารในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2564
แนวทางการพัฒนาแอปฯ ดีลิเวอรี ในขณะที่เจ้าตลาดที่เป็นทุนจากต่างชาติ คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทศพรนำจุดอ่อน และช่องว่างของแพลตฟอร์มค่ายอื่นมาสร้างจุดแข็ง จุดเด่นให้ตัวเอง
ปัจจุบันทศพรมาไกลกว่าจุดเริ่มต้น และการเป็นเพียง Local Delivery คงไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดใหญ่ ToKo SuperApp จึงถือกำเนิดในปีถัดมา
“ToKo SuperApp จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้คุณได้มาเป็นส่วนหนึ่ง ร่วมกันสร้างแอปฯ ไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเสียเวลามาสร้างแอปฯ เอง แอปฯ นี้เปรียบเสมือนการสร้างบ้านเพื่อรองรับห้องจำนวนมากที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้หมดแล้ว” นายทศพร จุลโพธิ์กล่าว
ToKo SuperApp เกิดจากความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร กับ หจก.โตโก ดิเวลลอปเม้นท์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สาธารณูปโภค รวมถึงประชาชนทุกคน
โตโก ซูเปอร์แอป เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากการใช้บริการดีลิเวอรีส่งอาหาร สิ่งของแล้ว ยังได้เพิ่มหมวดหมู่การใช้บริการเพิ่มขึ้นครอบคลุมปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่พัก บริการรถรับส่งทุกประเภท ตลาด และเซอร์วิสต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ภายใต้ระบบเรียลไทม์ ซึ่งแตกต่างจากแอปฯ อื่น
“ในส่วนของผู้ให้บริการ ตัวลูกค้าจะเป็นผู้เลือก ซึ่งจะเห็นโปรไฟล์ผู้ให้บริการ ที่อยู่ตามบัตรประชาชน รีวิวของลูกค้าที่ใช้บริการก่อนหน้าอย่างละเอียด รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์อีกด้วย เพื่อสะดวกในการตัดสินใจใช้บริการที่ง่ายขึ้น ส่วนรูปแบบการชำระเงินเป็นไปตามมาตรฐานสากล (Payment Gateway) โดยมีการทำข้อตกลงไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)” นายทศพรอธิบาย
นี่เป็นเหตุผลที่นายทศพรเรียกรูปแบบแอปฯ ที่ให้บริการว่าเป็น SuperApp สำหรับประเด็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME หรือร้านค้า ผู้ให้บริการที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแอปฯ ToKo นั่นคือการเก็บค่า GP ด้วยอัตราที่ต่ำสุดในตลาดผู้ให้บริการแอปฯ
“เราเก็บค่า GP ร้อยละ 1-15 ในขณะที่แอปฯ อื่นจะเก็บค่า GP จากร้านค้าและผู้ใช้บริการร้อยละ 30-32 นั่นเพราะเราต้องการให้ร้านค้าสามารถอยู่ได้ ผู้ใช้บริการจ่ายค่าสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม และยุติธรรม”
นายทศพรบอกว่า ToKo SuperApp ใช้เวลาในการพัฒนา 3 ปี ภายใต้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในทุกหมวดบริการประมาณ 5,000 ราย
นอกจากรายได้ที่ ToKo SuperApp จะได้จากการเก็บค่า GP จากผู้ให้บริการแล้ว ยังมีรายได้จากการปักหมุด หรือ Pin ที่เปรียบเสมือนเป็นพาร์ตเนอร์หลัก
"เรามี LPN เป็นพาร์ตเนอร์หลักของเราในเวลานี้ ซึ่งจะปักหมุดด้วยโลโก้ของ LPN ในแอปฯ ของเรา ราคาเริ่มต้นที่หมุดละ 1,500 บาท"
ด้านกลยุทธ์ที่จะทำ ToKo SuperApp สามารถเข้ามาสร้างการจดจำให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ได้ ผู้บริหารหลักของแอปฯ ระบุว่า จะใช้งานคอนเสิร์ต Big Moutain Music Festival 2023 ในการทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้