ปตท.เผยกำไร 9 เดือนแรกปี 66 อยู่ที่ 7.92 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ชี้ไตรมาส 4 นี้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 85-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้ 802,683 ล้านบาท ลดลง 9.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 884,610 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 31,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,875 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจการกลั่นมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม ปตท.มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 3/2566 นี้ประมาณ 20,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 25,000 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 6.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 3/2565 เป็น 11.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 3/2566 ในส่วนธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยหลักจากกลุ่มอะโรเมติกส์ที่มีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากราคาขายและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น
ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้ 2,337,438 ล้านบาท ลดลง 9.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 2,570,029 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 79,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 72,510 ล้านบาท โดยหลักขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวลดลงจากความกังวลด้านสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เริ่มผ่อนคลาย รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท.ปรับลดลง โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น จากกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และผลกำไรสต๊อกน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง
ทั้งนี้ กำไรสุทธิของ ปตท.มาจากธุรกิจที่ ปตท.ดำเนินการเอง 18% ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 48% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทย่อยอื่นๆ 19% ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก 10% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 5%
สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 4/2566 คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 85-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5-5.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลส่วนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ในไตรมาส 4 นี้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการสินค้าปลายทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากจีน และต้นทุนราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่สายอะโรเมติกส์ราคาเบนซีนแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนพาราไซลีน (PX) มีแนวโน้มลดลงจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในปลายไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 คณะกรรมการ ปตท.มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาล ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 14,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท.และบริษัทในเครืออีกประมาณ 34,000 ล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท.นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจ 9 เดือนแรกของปี 2566 ให้กับรัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ แล้วประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินปันผลจะพิจารณาให้เหมาะสมกับกำไร สถานะทางการเงิน สภาพคล่อง รวมถึงแผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง
ทั้งนี้ ปตท.ขานรับนโยบายลดผลกระทบค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันที่ 19 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้ ปตท. เรียกเก็บค่าเชื้อเพลิงตามค่าควบคุม และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กลุ่มภาคไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2566 ตามมติ ครม. พร้อมให้ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรอบถัดไปตามที่ กกพ.เห็นชอบ มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ปตท.สนับสนุนงบประมาณบรรเทาผลกระทบต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะวิกฤตต่างๆ ให้กับประชาชนแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้ ปตท.ยังได้มีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยเหลือผู้ใช้พลังงานในภาคส่วนอื่นๆ ทั้ง LPG NGV และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อร่วมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน