ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลังคนเชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ มีการจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสลายขั้วการเมือง แต่ยังต้องจับตาเศรษฐกิจโลก สงครามในตะวันออกกลาง การขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ต.ค. 2566 อยู่ที่ 60.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 2566 ที่ระดับ 58.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 42.9 เป็น 44.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 66.3 มาอยู่ที่ระดับ 68.0
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 54.5 57.0 และ 69.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.ย. 2566 ที่อยู่ในระดับ 53.2 55.4 และ 67.4 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และผู้บริโภคยังเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่าง ๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกัน โดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลใหม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้” นายธนวรรธน์กล่าว