xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ปรับลดคาดการณ์ MPI ปี 66 เป็น -4 ถึง -4.5% จาก ศก.โลกชะลอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“สศอ.” ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 เป็น -4 ถึง -4.5% จากเดิม และ GDP อุตสาหกรรม -2.5 ถึง -3% หลัง 9 เดือนแรก MPI ยังคงลดลง 6.06% อัตราการใช้กำลังการผลิตลดต่ำไม่ถึง 60% ส่งสัญญาณตามทิศทางส่งออกที่หดตัวจาก ศก.โลกชะลอ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.60 ลดลง 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 66) อยู่ที่ระดับ 94.31 ลดลง 5.09% จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวที่กระทบต่อการส่งออกของไทย สศอ.จึงปรับประมาณการ MPI ปี 2566 อยู่ที่ -4.0 ถึง -4.5% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ -2.8 ถึง -3.8% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ -2.5 ถึง -3.0% จากประมาณการครั้งก่อนที่ -1.5 ถึง -2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และความขัดแย้งระหว่างประเทศยังยืดเยื้อ

“อัตราการใช้กำลังการผลิต ก.ย.อยู่ที่ 58.02% และ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 59.83% ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก จากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากโครงสร้างการส่งออกของภาคการผลิตไทยไม่ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน แต่ท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ดังนั้น สศอ.จะมีการประกาศ MPI ที่เป็นตัวเลขเดียวอีกครั้งในเดือนพ.ย.นี้” นางวรวรรณกล่าว


ทั้งนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยภาพรวมเดือนตุลาคม 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวลงจากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง” จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของเงินบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว และส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น