“เศรษฐา”ติง ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ล่าช้า สั่งเร่งแก้ปัญหาด่วน ชี้กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน กทท.เผย”โควิด”ต้องปรับแผนขยายเวลา สัญญางานถมทะเล 422 วันจบปี 69 คาดส่งมอบพื้นที่ GPC ตอกเข็มใน มิ.ย.67
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชลบุรีและระยอง โดยได้ตรวจความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พร้อมสอบถามปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้า และกำหนดแล้วเสร็จที่ชัดเจนจะเป็นเมื่อใด เนื่องจากได้รับฟังมาว่า มีปัญหาล่าช้ามาก และสั่งการให้ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แถลงความคืบหน้าการก่อสร้าง ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในสัปดาห์หน้าว่า กทท.มีแผนงานที่จะปรับปรุงในเชิงบูรณาการแล้วอย่างไร และจะมีความล่าช้าออกไปอย่างไร เพื่อความชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องความแออัดของตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึง การขยาย เฟส3 จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งกทท.รายงานว่า ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเฟส1 และเฟส 2 มีขีดความสามารถรองรับได้ 11.1 ล้านทีอียู โดยปี 2566 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า รวม 8.67 ล้านทีอียู การพัฒนา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะขยายขีดความสามารถรองรับได้อีก 7 ล้านทีอียู รวม เป็น 18.1 ล้านทีอียู ซึ่งเป็นการขยายที่จะรองรับอีก 15 ปีข้างหน้า
@กทท.เร่งผู้รับจ้างเพิ่มเรือขุด
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวถึงแผนงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ว่า ขณะนี้กทท. อยู่ระหว่าง ดำเนินการการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน คือ การก่อสร้างงานทางทะเลเพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ถนนและระบบสาธารณูปโภค ระบบรถไฟ ซึ่งมี จำนวน 4 ส่วนงาน
โดยงานที่ 1 คือ การขุดลอก ถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่ง งานมีความล่าช้าในช่วงแรกเป็นการส่งมอบพื้นที่ และเรือไม่สามารถเข้ามาได้เนื่องจากช่วง การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระบาด โดยได้มีการปรับแผนตามระเบียบกรมบัญชีกลาง ในการช่วยเหลือเรื่องผลกระทบโควิด โดยตามแผนปรับใหม่กำหนด ผลงาน ณ เดือนต.ค.2566 กว่า 15% งานคืบหน้าจริง 13.8% หรือล่าช้า 1.8 % ปัจจุบัน ได้เร่งรัดทางผู้รับเหมาให้ทำตามแผนที่ปรับใหม่ ซึ่งผู้รับเหมาจะเร่งนำเรือขุดจากประเทศจีน เข้ามาดำเนินการเร่งการขุด
โดยงานที่ 1 คือ การขุดลอก ถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นนั้น แบ่งเป็น 4 พื้นที่ ขณะนี้ถมทะเลพื้นที่ 1 ส่งมอบพื้นที่แล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ถมทะเลพื้นที่ 2 ส่งมอบพื้นที่เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 ถมทะเลพื้นที่ 3 คาดว่าส่งมอบเดือน มิ.ย. 2567 และกำหนดแล้วเสร็จ 29 มิ.ย. 2569
@ผลกระทบ”โควิด”ขยายเวลา สัญญาถมทะเล 422 วันยืดไปจบปี 69
รายงานข่าวแจ้งว่า การก่อสร้างงานทางทะเลเพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ถนนและระบบสาธารณูปโภค ระบบรถไฟ ส่วนงานที่ 1 คือ การขุดลอก ถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่ง กทท.ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาท เป็นผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปีกำหนดแล้วเสร็จ วันที่ 3 พ.ค. 2568 ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขยายสัญญาอีก 422 วัน ซึ่งจะสิ้นสุด เดือนมิ.ย. 2569 ทั้งนี้ กทท.จะต้องลงนามแก้ไขสัญญากับ CNNC ให้เรียบร้อยก่อน
ซึ่งตามเงื่อนไขเดิม การถมทะเลและก่อสร้างเขื่อน ต้องการให้แล้วเสร็จใน พ.ค. 2566 เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับสัมปทาน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 1 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เข้าดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี เพื่อเปิดดำเนินการในระยะแรกได้ในปลายปี 2568 แต่ล่าสุดคาดว่า การส่งมอบพื้นที่จะล่าช้าอย่างน้อย 1 ปี
โดยงานถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่นนั้น ที่ กทท.ลงนามจ้าง CNNC นั้น แบ่งงานเป็น4 ช่วง คือ Key Date 1 และ 2ขุดดิน ถมทะเล ส่งมอบแล้ว ส่วน Key Date 3 ถมทะเล และก่อสร้างเขื่อน และพ่นทรายบดอัดพื้นที่ กำหนดเสร็จ ภายในเดือนมิ.ย. 2567 และ กทท.สามารถส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้
ส่วน Key Date 4 เป็นงานภาพรวม ขุดลอกร่องน้ำ ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นด้านนอก คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี ซึ่งผู้รับเหมาต้องเพิ่มเรือขุดและเครื่องจักรใหญ่เข้ามาทำงาน ในพื้นที่ร่องน้ำลึก และมีหินขนาดใหญ่ ประกอบกับอาจจะมีปัญหาอุปสรรค ในกรณีเกิดมรสุมที่จะส่งผลให้การทำงานล่าช้าออกไปได้ทุกเมื่อ