xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯ กฟผ.เคลื่อนไหวแล้วนัดถกผู้บริหารหาทางออกผู้ว่าฯ คนใหม่ 6 พ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สร.กฟผ.” เคลื่อนไหวนัดผู้บริหาร 6 พ.ย.นี้เพื่อหาทางออกองค์กรขาดผู้นำหลังการหมดวาระของผู้ว่าฯ คนเดิมตั้งแต่ 21 ส.ค. 66 ขณะที่การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ได้เป็นไปตามกระบวนการทุกอย่างซึ่งถือว่ามีความผิดปกติแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน อีกทั้งบอร์ด กฟผ.เองก็ยังไม่มีหัวเรือ

นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.)
เปิดเผยว่า วันที่ 6 พ.ย. 2566 คณะกรรมการ สร.กฟผ.จะเข้าหารือกับผู้บริหารเพื่อร่วมหาทางออกที่ขณะนี้ กฟผ.ได้ขาดผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่มาเป็นเวลาที่นานเกินควรทำให้เกิดสุญญากาศของการบริหารองค์กร โดย สร.กฟผ.ไม่ได้มองว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าการแต่ กฟผ.จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ คนใหม่เพื่อทำให้องค์การขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยเฉพาะการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ กฟผ.เองยังคงแบกรับภาระกว่าแสนล้านบาท

"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเคลื่อนไหว เราจะคุยกับผู้บริหาร กฟผ. ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งปัญหาคือ เราต้องมีผู้ว่าการเพื่อมาบริหารจัดการปัญหาที่สำคัญขององค์กร ยอมรับว่าปัญหาของ กฟผ.ถือเป็นปัญหาของชาติและประชาชน เพราะ กฟผ. โดยหน้าที่และเจตนารมณ์หลักที่จัดตั้งก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่กำลังจะตาย รัฐควรช่วยเหลือให้องค์กรของรัฐที่เป็นแขนเป็นขาให้รัฐบาล แต่กลับหยิบเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ ผลกำไร และรายได้นำส่งเข้ารัฐไปเป็นกำไรให้กับภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังการผลิตเหลือประมาณ 28% และในอนาคตบอกว่าจะเหลือแค่ 20% และจะกลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้อย่างไรกัน” นางณิชารีย์กล่าว

ภาคสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน รวมถึงพนักงาน กฟผ.กว่าหมื่นคนได้มีการกระตุ้นไปยังภาครัฐบาลถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งสหภาพฯ เองก็ได้มีการเรียนถามไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในช่วงแรกที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเพราะรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ และโดยธรรมชาติก็ควรมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ เพราะอำนาจต่างๆ จะมีผลผูกพันธ์กับการตัดสินใจด้วย แต่จนปัจจุบันยังไม่สามารถนำมาซึ่งข้อสรุปได้

ทั้งนี้ สร.กฟผ.ได้ติดตามการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 เพื่อพิจารณาผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ครบวาระในวันที่ 21 ส.ค. 2566 โดยบอร์ด กฟผ.ได้เลือก นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาที่มี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานเสนอ

นอกจากนี้ ภายหลังบอร์ด กฟผ.ลงมติเรียบร้อย ต่อมามีสัญญาณว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสร.กฟผ. ได้ติดตามไปยังนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน สมัยนั้น ให้นำเสนอชื่อผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 ก่อนที่จะมีการยุบสภาฯ เพราะเกรงว่าจะขาดตอน เพราะช่วงนั้น กฟผ.ก็มีปัญหาการรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) กว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงปัญหาสภาพคล่อง ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยผู้มีอำนาจสูงสุดในการลงนาม แต่ก็ไม่ได้มีการนำเสนอ จนเป็นรัฐบาลรักษาการ ต่อมาได้มีการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงเดือน ก.ค. 2566 ก็แปลกใจว่า กกต.มีการอนุมัติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ยกเว้นผู้ว่าการ กฟผ. เป็นอะไรที่ผิดปกติมาก และเมื่อแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่สำเร็จ ก็หวังว่าจะมีการนำเสนอ ครม.นัดแรกแต่สุดท้ายก็ไม่มี และล่าสุดมีการระบุต้องส่งให้บอร์ด กฟผ.ชุดใหม่พิจารณาแต่ขณะนี้บอร์ดก็ยังคงขาดประธาน

“ปัญหานี้ก็อยากให้เร่งดำเนินการ เรายืนยันว่าไม่คัดค้านอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานและเป็นเครื่องมือของรัฐ จึงสนับสนุนอยู่แล้ว แต่รัฐก็ต้องดูแลองค์กรของรัฐ ซึ่งเป็นแขนเป็นขาในการทำงานว่าจะหาทางออกและช่วย กฟผ.อย่างไร เพราะ กฟผ.จะต้องบริหารจัดการพนักงานกว่า 1 หมื่นคน รวมถึงความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าเพื่อประเทศ ประชาชน และสังคมโดยรวม” ประธาน สร.กฟผ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น