"มนพร" ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานีตรวจปัญหาอุปสรรค เดินหน้าพัฒนา "ท่าเรือดอนสักแห่งที่ 2" สั่งเจ้าท่าฯ เชื่อมโยงบริการกับขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ ใช้เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยว
วันที่ 1 พ.ย. 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงข่ายคมนาคมทางน้ำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่มีชื่อเสียงของประเทศ เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งประชาชนเดินทางท่องเที่ยว หรือขนส่งสินค้าด้วยระบบคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาท่าเรือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมทั้งยกระดับความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับทราบปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะในการนำไปพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำให้คน เรือ และท่าเทียบเรือ มีความปลอดภัย สนับสนุนภาคการขนส่งของประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ โดยท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นท่าเรือสำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีความต้องการของเรือและสินค้าผ่านท่า เป็นท่าเรือสำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ภูมิภาคและประเทศ รองรับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวและสินค้าไปยังเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน สามารถพัฒนาให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ต่อยอดเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รมช.คมนาคมได้ตรวจติดตามมาตรการความปลอดภัย เส้นทางการเดินเรือ ปริมาณคนโดยสาร และสินค้าที่ผ่านท่าเรือ รับฟังรายงานแนวทางการพัฒนาท่าเรือดอนสักแห่งที่ 2 รวมทั้งตรวจเยี่ยมพื้นที่ท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก (แหลมทวด) ท่าเรือบริษัท ราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ท่าเรือบริษัท ซีทรานเฟอร์รี่ จำกัด
ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมเจ้าท่าควบคุม กำกับดูแลการบริหารจัดการท่าเรือโดยให้มีการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนและผู้ประกอบการ เช่น ระบบตั๋วร่วม ระบบการรับเรื่องร้องเรียนและการเลือกใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งเน้นย้ำถึงมาตรการความสะดวกปลอดภัยการให้บริการเดินทางทางน้ำให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว จัดเจ้าหน้าที่ดูแลอำนวยความสะดวกประจำท่าเทียบเรือ พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ ตรวจสภาพอุปกรณ์ประจำเรือ แพชูชีพ พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้รับอนุญาต ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศ ข่าวพยากรณ์อากาศ ก่อนการเดินเรือทุกครั้ง