“ไทย สมายล์ กรุ๊ป” แบกขาดทุนเดือนละ 200 ล้านบาท พร้อมลุยเพิ่มฟีดรถเมล์ไฟฟ้าตามแผน ล่าสุดเปิดตัวรถ EV สีส้มราคาประหยัด รถร้อน 10 บาทตลอดสาย นำร่อง 10 เส้นทาง พร้อมเร่งปรับปรุงบริการ หลัง ปชช.บ่นรถน้อย รอนาน ไม่เข้าป้าย
วันที่ 31 ต.ค. 2566 นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป (TSB) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของไทยสมายล์บัส ช่วง 3 ไตรมาสปี 2566 ว่า ธุรกิจในเครือไทยสมายล์ ในแง่ของเส้นทางรถโดยสารที่ให้บริการปัจจุบันมีทั้งสิ้น 123 เส้นทาง โดยช่วงต้นปี 2565 มีรถเมล์ไฟฟ้า (EV) 800 คัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2,200 คันแล้ว ขณะที่เงื่อนไขใบอนุญาตกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดขั้นต่ำที่ 1,500 คัน ซึ่งบริษัทฯ มีแผนลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดหารถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 3,100 คัน ต้นทุนคันละ 7 ล้านบาท โดยยังขาดอีก 900 คัน ซึ่งจะจัดหาครบช่วงกลางปี 2567
ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 3 แสนคน/วัน มีรายได้ 5-6 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อคันต่อวัน ตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการเพิ่ม 5 แสน-1 ล้านคนต่อวัน มีรายได้ 14-15 ล้านบาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 6,500 บาทต่อคันต่อวัน โดยได้เพิ่มความถี่ เพิ่มจำนวนรถ เพิ่มจำนวนรอบ ไปจนถึงการขยายเวลาการวิ่งให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ใน 4 เส้นทาง
ส่วนแผนระยะยาว มีแผนขยายการให้บริการในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวิ่งรถในเส้นทางใบอนุญาตปัจจุบัน และการขยายให้บริการรูปแบบ Feeder เชื่อมต่อการขนส่ง ทั้งรถ-เรือ-ราง ทั้งยังเพิ่มการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่างๆ
"จำนวนผู้โดยสารปัจจุบันยังต่ำกว่าเป้า ทำให้ยังขาดทุนอยู่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อเดือน โดยตั้งเป้าว่าจะคืนทุนภายในอีก 5 ปี (ปี 69-70)" นางสาวกุลพรภัสร์กล่าว
@เปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้า "สีส้ม" รถร้อน นำร่อง 10 เส้นทาง
พร้อมกันนี้ ไทยสมายล์บัสยังได้มีการเปิดตัว รถเมล์ไฟฟ้าราคาประหยัด หรือ “รถ EV สีส้ม” ซึ่งเป็นรถเมล์ร้อน ตามนโยบายของภาครัฐที่มีกำหนดนโยบายว่าเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการจัดหาให้มีรถร้อนออกให้บริการประชาชนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทางบริษัทได้จัดหามาทั้งสิ้นจำนวน 60 คัน เพื่อนำไปเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เฟสแรกจะให้บริการใน 10 เส้นทาง ในวันที่ 6 พ.ย. 66 เป็นต้นไป
ได้แก่ 1. สาย 4-26 (167 เดิม) เคหะธนบุรี-สถานีรถไฟฟ้าสวนลุมพินี จำนวน 5 คัน 2. สาย 2-35 (110 เดิม) ประชานิเวศน์ 3-เทเวศร์ จำนวน 5 คัน 3. สาย 1-13 (126 เดิม) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-คลองตัน จำนวน 6 คัน 4. สาย 1-44 (113 เดิม) มีนบุรี-หัวลำโพง จำนวน 8 คัน 5. สาย 1-45 (115 เดิม) สวนสยาม-บางรัก จำนวน 6 คัน 6. สาย 1-15 (150 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-มีนบุรี จำนวน 6 คัน 7. สาย 1-6 (52 เดิม) ท่าเรือปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ จำนวน 5 คัน 8. สาย 2-8 (51 เดิม) วัดปรางค์หลวง-บางเขน จำนวน 5 คัน 9. สาย 4-51 (124 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-สนามหลวง จำนวน 6 คัน และ 10. สาย 4-63 (547 เดิม) หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา-ถนนตก จำนวน 8 คัน
จากนั้นจะศึกษาผลตอบรับเพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการต่อไปในอนาคต ด้วยอัตราค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย ตามข้อกำหนดใบอนุญาตของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารได้ทั้งรูปแบบ HOP Card ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ เดินทางไม่จำกัดในราคาเพียง 40 บาทตลอดสาย ไปจนถึงการชำระด้วยรูปแบบเงินสด
น.ส.กุลพรภัสร์กล่าวว่า บริษัทฯ ลงทุน 450 ล้านบาท จัดหารถ EV สีส้ม ขนาด 8 เมตร ทั้งสิ้น 60 คัน หรือประมาณคันละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารไม่เกิน 30 คนต่อคัน ค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 1,000 คนต่อวัน
“รถ EV สีส้ม บริษัทได้นำรถโดยสารปรับอากาศ (รถแอร์) มาดำเนินการให้เป็นรถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเทคโนโลยีเพิ่มเติม ประมาณ 5 แสนบาทต่อคัน เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ออกมาภายในห้องโดยสาร ถือเป็นการพัฒนาคันแรกของโลก”
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง จากช่วงเริ่มให้บริการมีร้องเรียนประมาณ 2,000 เรื่องต่อเดือน ปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 เรื่องต่อเดือน เช่น รถน้อย คอยนาน ไม่มีบริการรถกะดึก และรถกะสว่าง ไม่จอดรับผู้โดยสาร วิ่งเลนขวา ซึ่งบริษัทฯ พยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากที่สุด รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนรถ และจำนวนเที่ยววิ่งบริหารจัดการให้สอดคล้องกับผู้โดยสารมากที่สุด
ปัจจุบันบริษัทฯ ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมครบวงจร ที่จะปั้นพนักงานขับรถ “กัปตันเมล์” รุ่นใหม่เข้ามาให้บริการด้วยมาตรฐานที่ยกระดับขึ้น ทั้งยังปรับสิทธิประโยชน์รายได้ของพนักงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรม นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มทดลองใช้ระบบ Fleet management ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กำกับการเดินรถ สามารถตรวจการเข้าป้าย ความเร็ว ปริมาณผู้โดยสารบนรถ ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่พนักงานผู้ให้บริการ
ส่วนไทย สมายล์ โบ้ท ได้มีการเสริมฟีดเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ขนาด 19 เมตร เป็นเรือ Catamaran พลังงานสะอาด 100% ซึ่งปัจจุบันได้รับเพิ่มมาแล้วจำนวน 9 ลำ ส่งผลให้บริษัทมีฟีดเรือให้บริการทั้งสิ้น 35 ลำ ซึ่งจะเข้าไปบริการในเส้นทาง Urban (เส้นทางพระนั่งเกล้า-สาทร) และ City Line (เส้นทางสาทร-พระปิ่นเกล้า) ก่อนในช่วงแรก แล้วจึงขยายไปเส้นทาง Metro Line (เส้นทางพระราม 7-วัดวรจรรยาวาส) โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มความถี่ให้บริการได้ทุก 7-10 นาที พร้อมทั้งยังสามารถให้บริการลูกค้าองค์กร เช่น การเช่าเหมาลำ การวิ่งตามฟีดเส้นทาง หรือเรือนำเที่ยว ได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ใช้บริการอยู่ที่ 5,000 คนต่อวัน มีรายได้ 100,000 บาทต่อวัน และแนวโน้มคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารในอนาคตอยู่ที่ 20,000 คนต่อวัน มีรายได้ 500,000 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนจัดหาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าจำนวน 44 ลำ เพื่อให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้วงเงินลงทุน 1,500-1,600 ล้านบาท หรือ 32-33 ล้านบาทต่อลำ