xs
xsm
sm
md
lg

ชาวออฟฟิศเฮ! รถเมล์ใหม่ 4-7E วัดคู่สร้าง-จุฬาฯ จากวัดสนขึ้นทางด่วนลงสาทรผ่านสีลม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เส้นทางเดินรถใหม่สาย 4-7E วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พ.ย.นี้ พบจากวัดคู่สร้าง ประชาอุทิศ ผ่านป้ายรถเมล์ใหญ่ "วัดสน-กม.9" ขึ้นทางด่วนสุขสวัสดิ์ ไปลงใจกลางย่านธุรกิจสีลมและสาทร ต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสุรศักดิ์

รายงาน

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมจัดเดินรถโดยสารในเส้นทางสาย 4-7E วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทางด่วน) ตามแผนปฏิรูปรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป ให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. โดยให้บริการในวันธรรมดา วันละ 88 เที่ยว และให้บริการในวันหยุด วันละ 84 เที่ยว รถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) แบบชานต่ำ (Low Floor) จำนวน 14 คัน โดยจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15, 20 และ 25 บาท ตามระยะทาง (กรณีขึ้นทางด่วนจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 2 บาท)




สำหรับเส้นทางสาย 4-7E วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ทางด่วน) เริ่มต้นจากวัดคู่สร้าง ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ไปตามถนนประชาอุทิศ ผ่านหมู่บ้านสยามนิเวศน์ หมู่บ้านประชาสามัคคี หมู่บ้านวรารมย์ ประชาอุทิศ 98 สำนักงานเขตทุ่งครุ (ห้างบิ๊กซี ฟู้ดเพลส ประชาอุทิศ) วัดทุ่งครุ อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ถึงแยกนาหลวง เลี้ยวขวา ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน

ถึงแยกประชาอุทิศ (กม.9) เลี้ยวขวาไปตามถนนสุขสวัสดิ์ กลับรถที่วัดสน ผ่านป้ายวัดสน ป้ายใต้ทางด่วน กม.9 ขึ้นทางด่วนด่านสุขสวัสดิ์ สะพานพระราม 9 ลงทางด่วนด่านสาทร ไปตามถนนเจริญราษฎร์ ถึงแยกสาทร-สุรศักดิ์ เลี้ยวขวาไปตามถนนสาทรเหนือ ผ่านป้ายสถานีสุรศักดิ์ (ทางออก 3) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ สถานทูตพม่า ถึงแยกสาทร-นราธิวาส เลี้ยวซ้ายไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี

ถึงแยกนรารมย์ เลี้ยวขวาไปตามถนนสีลม ผ่านโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง ถึงแยกศาลาแดง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระรามที่ 4 ผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (สถานีรถไฟฟ้า MRT สีลม) ถึงแยกอังรีดูนังต์ เลี้ยวขวาไปตามถนนอังรีดูนังต์ สิ้นสุดเส้นทางที่ป้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณคณะรัฐศาสตร์ (ท่าปล่อยรถสาย 21 และ 141)

ส่วนเที่ยวกลับ ตรงไปถึงแยกเฉลิมเผ่า เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระรามที่ 1 ผ่านสยามสแควร์ ถึงแยกปทุมวัน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพญาไท ผ่านตรงข้าม MBK Center จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณทางเข้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ป้ายตรงข้ามคณะนิติศาสตร์ (สามย่านมิตรทาวน์) ถึงแยกสามย่าน เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระรามที่ 4 ผ่านจามจุรีสแควร์ (สถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่าน) สถานเสาวภา ถึงแยกศาลาแดง เลี้ยวขวาไปตามถนนสีลม ผ่านอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ อาคารยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ กลับเส้นทางเดิม

ป้ายวัดสน (ภาพจาก Google StreetView)
สำหรับเส้นทางดังกล่าว เป็นที่วิจารณ์ว่า คล้ายกับรถประจำทางสาย 21 วัดคู่สร้าง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ช่วงตั้งแต่แยกประชาอุทิศ (กม.9) รถจะขึ้นทางด่วน ไม่ได้ผ่านบางปะกอก บางปะแก้ว ดาวคะนอง วงเวียนใหญ่ คลองถม หัวลำโพง สะพานเหลือง เหมือนเส้นทางปกติ บ้างก็ว่ามีลักษณะคล้ายกับสาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงที่ผ่านวัดสนก่อนขึ้นทางด่วนข้ามสะพานพระราม 9 แต่ไปลงด่านสาทร และช่วงสี่แยกศาลาแดงถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเปิดเส้นทางดังกล่าว คนที่อยู่อาศัยย่านถนนประชาอุทิศ ที่จะต่อรถไฟฟ้าไปยังย่านออฟฟิศชั้นนำ โดยเฉพาะย่านสาทรและสีลม จะได้ประโยชน์ เพราะปัจจุบันถนนสุขสวัสดิ์ต่อเนื่องไปยังถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน สะพานพระปกเกล้า ถึงแยกสามยอด มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ทำให้การจราจรติดขัดเป็นประจำทุกวัน ซึ่งการเปิดเดินรถสายใหม่น่าจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางขึ้นมาบ้าง แม้จะพบปัญหาคอขวดบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ และสะพานพระราม 9 ที่กำลังก่อสร้างทางด่วนก็ตาม รวมทั้งการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนบนถนนสาทร ใช้เวลาฝ่ารถติดอย่างน้อยประมาณครึ่งชั่วโมง

นอกจากนี้ ป้ายรถเมล์วัดสน 2 ซึ่งเป็นป้ายรถเมล์ใหญ่ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถประจำทางสาย 138 พระประแดง-หมอชิตใหม่ กับอู่ราชประชา-หมอชิตใหม่ ลงด่านดินแดง, สาย 141 อู่แสมดำ-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงด่านท่าเรือ ผ่านคลองเตย และสาย 142 อู่แสมดำ-ปากน้ำ ลงด่านบางนา ผ่านสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางนา หากมีสาย 4-7E เข้ามา จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้ถือบัตรโดยสารรถปรับอากาศเหมาจ่ายแบบรายเดือน สามารถเดินทางด้วยรถสาย 4-7E ไปลงป้ายสถานีสุรศักดิ์ (ทางออก 3) ใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สุรศักดิ์ เป็นการป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าอีกทาง

ป้ายสถานีสุรศักดิ์ (ทางออก 3)  (ภาพจาก Google StreetView)


สำหรับการเก็บค่าโดยสาร พบว่าสาย 4-7E นี้มีระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร รถโดยสารปรับอากาศแบบชานต่ำ หรือรถเมล์เอ็นจีวี ค่าโดยสารเริ่มต้น 4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท และมีค่าบริการทางด่วน 2 บาท หากนั่งจากป้ายวัดสน ลงป้ายสถานีสุรศักดิ์ (ทางออก 3) เพื่อต่อรถไฟฟ้า จะเสียค่าโดยสาร 22 บาท (ระยะทางจากป้ายวัดสน ถึงป้ายสถานีสุรศักดิ์ ประมาณ 7 กิโลเมตร) เช่นเดียวกับไปลงป้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียค่าโดยสาร 22 บาทเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากนั่งจากวัดคู่สร้าง จะเริ่มคิดค่าโดยสาร 20 บาทตั้งแต่ตลาดทุ่งครุเป็นต้นไป และจะคิดค่าโดยสาร 27 บาทตั้งแต่ป้ายสถานีสุรศักดิ์ (ทางออก 3) ถึงป้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนช่องทางการชำระเงิน สามารถชำระเงินได้ทั้งเงินสด บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) สแกน QR Code ผ่านโมบายล์แบงกิ้ง และบัตรเดบิต บัตรเครดิต VISA และ Mastercard ที่มีสัญลักษณ์คอนแทกต์เลสของทุกธนาคาร รวมทั้งสามารถติดตามพิกัดรถเมล์ผ่านระบบ GPS ได้ที่แอปพลิเคชัน VIABUS เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น