การตลาด – “ทีเส็บ” ปรับกลยุทธ์รุก รับตลาดเปลี่ยนแปลง เปิดแผนรุกตลาดไมซ์ เพิ่มคุณค่าอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เจาะ 3 กลุ่มธุรกิจหลักสอดแทรกทุนวัฒนธรรมเป็นจุดเด่นในระยะยาว ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 ดึงนักเดินทางไมซ์ 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาทเผยพฤติกรรมไมซ์ใหม่ ปีงบประมาณที่แล้ว ทะลุเป้า ล่าสุดของบตลาดพิเศษ สู้ปัจจัยลบที่ยังมีอยู่
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปี 2567 ของทีเส็บยึดโยงการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่ออยู่รอดและเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน
จากหลักดังกล่าว ทีเส็บจึงลงทุนทำวิจัยหัวข้อ MICE Foresight ว่าด้วยอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ทราบทิศทางที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนกลยุทธ์
ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินงานของทีเส็บใน 21 ปีของการก่อตั้งประสบความสำเร็จ สามารถประมูลสิทธิ์งานไมซ์ระดับโลกได้สำเร็จกว่า 442 งาน และให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 6,300 งาน คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 63,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไมซ์ 650 รายทั่วโลกยกให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ 14 ประเทศทั่วเอเชีย ตามด้วยญี่ปุน และสิงคโปร์ โดยประเทศไทยโดดเด่นในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้จ่าย ความมีเอกลักษณ์ ความพร้อมในการรองรับนักเดินทาง และภาพลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องไมซ์
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ทั้งในเรื่องการเดินทางธุรกิจจะลดลง ช่วงการเดินทางเพื่อร่วมงานไมซ์จะสั้นลง และความต้องการเปลี่ยนไป เช่น นวัตกรรมไมซ์ แหล่งประชุมใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป้าหมายทางธุรกิจใหม่และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ทีเส็บได้กำหนดแนวทางในอนาคตพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value-Added Destination) และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน
“แนวทางนี้จะสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นและคุณค่าให้แก่กิจกรรมไมซ์ที่จัดในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ภาพลักษณ์ไมซ์ไทยจะชัดเจนในฐานะแหล่งประชุมที่มีคุณค่าสูง เพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเซีย เป็น Springboard of ASIA's Growth ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า มั่นคง”
*** เปิดแผนรุกไมซ์ปี 2567
สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเป้าหมาย Springboard of Asia’s Growth นั้น ทีเส็บจะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1. งานเทศกาลนานาชาติ (Festival) ซึ่งที่ผ่านมา ทีเส็บได้สนับสนุนงานเทศกาลกว่า 100 งาน สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท โดยทิศทางการดำเนินงานในอนาคตทีเส็บจะขับเคลื่อนโดยใช้ “ต้นทุน” ทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือ Soft Power เป็นตัวสร้างมูลค่าแบบ 360 องศา ในการสร้างประสบการณ์ที่มีอัตลักษณ์ มีคุณค่า และเป็นจุดขายใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีมาตรการในระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องทำในปี 2567 คือ เร่งทำตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ เน้นสร้างเครือข่ายผ่านการทำ Roadshow One-on-One Meeting ควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความท้าทายต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างเครือข่ายและโอกาสในเวทีโลก
2. การแสดงสินค้านานาชาติ จากรายงานของสมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือ UFI พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอันดับ 4 ของเอเชีย ในด้านพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า และในปี 2566 งานแสดงสินค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มรายได้และจำนวนนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้าสู่ไทย ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 68% หรือเทียบเท่ากับรายได้ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดสูงสุดก่อนการระบาดของโควิด 19 นอกจากนี้ยังมีงานแสดงสินค้าใหม่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 25 งาน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ทีเส็บจึงได้เตรียมแนวทางในการสร้างความได้เปรียบด้านแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทย โดยการสร้างเครื่องมือวิเคราะห์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในตลาดที่การแข่งขันยังไม่สูงนัก (Blue Ocean) พร้อมสร้างและขยายโอกาสทางธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. ตลาดไมซ์ในประเทศ ในปี 2566 มีนักเดินทางไมซ์ในประเทศ จำนวน 16.5 ล้านคน คิดเป็น 95% ของนักเดินทางไมซ์โดยรวมทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุม และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทีเส็บจึงได้เตรียมความพร้อมการพัฒนาและยกระดับพื้นที่เป้าหมาย (Destination Readiness) และการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า (Authentic Experience) เชื่อมโยงเมืองไมซ์ทั้ง 10 แห่ง พร้อมเปิดตัวแคมเปญ ยกทีมประชุม รุมรักเมืองไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนในภาพรวม
โดยกำหนดเป้าหมายว่า สิ้นปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน รายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท
*** ยื่นของบตลาดพิเศษ
นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า ทีเส็บได้ยื่นเรื่องไปทางรัฐบาล เพื่อขออนุมัติงบประมาณการตลาดพิเศษหรืองบเอ็กซ์ตร้าที่ไม่เกี่ยวกับงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อนำมาใช้ในการทำตลาดและกระตุ้นตลาดของทีเส็บ ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณนี้ ( 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2567 ) โดยจะต้องทำตลาดเต็มที่กับการโรดโชว์ในพื้นที่่ใหม่มากขึ้น
เนื่องจากขณะนี้ยังมีปัจจัยลบหลายประการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของทีเส็บ โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่จะเข้ามาในไทย แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยลบอื่นอีกเช่น สงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงขึ้น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ัยังไม่จบลง เที่ยวบินของสายการบินหลายแห่งยังไม่กลับมาบริการเท่าเดิม
รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆในระยะยาว เช่น การที่อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ทั้งในเรื่องของการเดินทางธุรกิจจะลดลง ช่วงการเดินทางเพื่อร่วมงานไมซ์จะสั้นลง และความต้องการเปลี่ยนไป เช่น นวัตกรรมไมซ์ แหล่งประชุมใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป้าหมายทางธุรกิจใหม่และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
*** ฝ่ายไมซ์อินเทลลิเจนซ์และนวัตกรรม
นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายไมซ์อินเทลลิเจนซ์และนวัตกรรม กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเดินทางไมซ์ ว่า แนวโน้มดังกล่าวสามารถแยกออกมาได้เป็น 7 ประการที่สำคัญได้ดังนี้คือ
1. TECHNOLOGYเรื่องของการนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้เพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สูงในกาดำเนินธุรกิจด้านไมซ์ต่างๆ
2. DIRECT – TO – BIG CUSTOMERผู้บริโภคนักเดินทางไมซ์มีความคาดหวังที่สูงเพิ่มขึ้น มีความต้องการที่จะเจรจาและติดต่อโดยตรงกับผู้ขายไม่ต้องการติดต่อผ่านคนกลา งเพราะจะทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีและตรงกว่า
3. MICE FOR BRANDING การทำธุรกิจไมซ์ก็สามารถนำมาใช้เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างแบรนด์ดีได้ประการหนึ่ง
4.VALUE ON EXPERIENCE AND NEW TYPE OF DESTINATION AND FORMAT การสร้างคุณค่าจากประสบการณ์และโมเดลใหม่สู่จุดหมายปลายทางอย่างดี
5. REGIONALISATIONS การเที่ยวในแต่ละภูมิภาคที่จะต้องให้ความสำคัญกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น
6. SUSTAINABILITY PRACTICE การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน เพราะผู้บริโภคปัจจุบันให้ความสนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เจนZ สนในเรื่องนี้มากขึ้น
7. FLEXIBILITY AND RESILIENCE ABILITYผู้ประกอบการควรต้องมีความยืดหยุ่นต่างๆมากขึ้น ไม่ควรไปทำอะไรให้ตายตัว
*** ฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนต์ และเทศกาลนานาชาติ
นางสาวหริสุดา บุญยวัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาการจัดงานเมกะอีเวนต์ และเทศกาลนานาชาติ กล่าวว่า ทีเส็บมองว่าการจัดเฟสติวัล เป็นตลาดที่น่าสนใจและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมืองไทยเราก็มีงานเฟสติวัลมากมายที่น่าสนใจ ซึ่งงานด้านเฟสติวัลนี้หากพิจารณาให้ดีแต่จะมีความหลากหลาย
แต่สิ่งที่ทีเส็บจะเน้นมี 5 กลุ่มเฟสติวัล คือ 1.ศิลปวัฒนธรรม 2.งานสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์ 3. บันเทิง 4.กีฬา และะ 5.นวัตกรรมและเทคโนโลยี
ในช่วงที่ผ่านมา มีการจัดเฟสติวัล เทศกาลไปแล้วมากกว่า 120 งาน สามารถสร้างรายได้สะพัดมากกว่า 50,409.78 ล้านบาท
ทั้งนี้ประเทศไทยมีมูลค่าทางด้านตลาดงานสร้างสรรค์ประมาณ 1.51 TRILLION THB
นายดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายงานอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของฝ่ายฯในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดงานสร้างสรรทั้งหมด 132 งาน มีนักเดินทางไมซ์รวม 269,439 คน และสร้างรายได้รวม 17,783 ล้านบาท
ส่วนเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายจะมีงานจำนวน 145 งาน มีนักเดินทางไมซ์รวม 296,383 คน และสร้างรายได้รวม 19,561 ล้านบาท
โดยมีโครงการจัดทำแนวทางสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทย ด้วยการ จัดโรดโชว์ เป็นตัวแทนให้กับผู้ประกอบการไทย และ นำพาผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุมนานาชาติเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในหลายมิติ ในการนำและเชื่อมต่อทั้งระบบ
*** ฝ่ายการตลาดไมซ์ในประเทศ
นางสาวกนกพร ดำรงกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดไมซ์ในประเทศ กล่าวว่า มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ปี2566 พบว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์ 17.4 ล้านคน สร้างรายได้สะพัด 101.5 พันล้านบาท โดยสัดส่วนตลาดไมซ์ในประเทศ แบ่งเป็น M&I 2.9%, C 6.6% และ E 90.5%
ในปี67 มีโครงการเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ รวม 6 โครงการ ในช่วง 6 เดือน (Quick Win ) ประกอบด้วย 1. ออกแบบการสนับสนุนให้ตอบสนองความต้องการแต่ละกลุ่ม C & E , 2. สร้างแชมป์เปี้ยนอุตสาหกรรม Regional National International, 3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล “ยกทีมประชุม รุกรักเมืองไทย” , 4. สร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านสินค้าและบริการ เส้นทางไมซ์ใหม่ 7 Theme plus (Soft Power Series) , 5. ปลดล็อกอำนวยความสะดวกการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศ (Exhibition Clinic), 6. ขยายโอกาสยกระดับงานไมซ์ตามงาน Agenda Base
โดยปี2567 ทางฝ่ายฯตั้งเป้าหมายจัดงานรวม 102 งาน และตั้งเป้าจำนวนักเดินทางไมซ์ในประเทศเติบโต 10% รายได้สะพัดเติบโต10% และคาดการณ์ว่าจะมีการจัดประชุมทางวิชาการ 40 งาน และงานแสดงสินค้า 25 งาน สร้างงานกระจายรายได้ โดยมีมูลค่าทางการค้ากว่า 1,440 ล้านบาท และมีเศรษฐกิจหมุนเวียนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท