ทาทา สตีลฯ เผยสงครามอิสราเอล-ฮามาสยังไม่มีผลกระทบต่ออุตฯ เหล็กอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าช่วงสั้นราคาน้ำมันดีดตัวขึ้น แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมร้องรัฐออกมาตรการคุมเข้มเหล็กนำเข้าจากจีน หลังถูกดัมป์ตลาด ซ้ำเติมผู้ผลิตเหล็กในไทย
นายตารุน คูมาร์ ดากา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TSTH ) เปิดเผยผลกระทบจากสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่า ขณะนี้ราคาเหล็กยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งราคาน้ำมันจะมีการปรับขึ้นในช่วงระยะสั้นหากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้าง ซึ่งบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อยอดขายเหล็กในประเทศ คือหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศลดลง ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการทุ่มตลาดเหล็กโดยเฉพาะเหล็กลวดจากจีนเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์จากจีนประสบปัญหาฉุดเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง นับเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการเหล็กภายในประเทศไทยมากขึ้นแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดนำเข้าจากจีนก็ตาม
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการบริโภคเหล็กทรงยาวของไทยปรับลดลงมาโดยตลอด ล่าสุดในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 66) การบริโภคเหล็กทรงยาวของไทยใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 4.29 ล้านตัน แต่ตัวเลขปริมาณการนำเข้าเหล็กทรงยาวปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 1.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 1.70 ล้านตัน ขณะที่การผลิตเหล็กทรงยาวในไทยลดลงมาอยู่ที่ 3.10 ล้านตันจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 3.20 ล้านตัน ดังนั้นบริษัทจึงอยากเรียกร้องภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นสำหรับเหล็กนำเข้าจากจีน
นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐสนับสนุนภาคธุรกิจไทย รวมถึงภาคการก่อสร้าง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกเหนือจากแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการอุดหนุนราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งการเร่งรัดโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น
นายตารุนกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 3 ปีการเงิน 2567 (ต.ค.-ธ.ค. 66) ว่า ขณะนี้โรงงานเหล็กแห่งหนึ่งของบริษัทที่เคยหยุดผลิตไปอันเนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้าชำรุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้กลับมาผลิตใหม่ตามปกติแล้ว ซึ่งการหยุดผลิตของโรงงานดังกล่าวไม่ส่งผลต่อเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายเหล็กของ TSTH ในปีนี้ที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านตัน โดยในไตรมาส 2 งบการเงินปี 2567 (ก.ค.-ก.ย. 66) บริษัทมีปริมาณการขายเหล็ก 1.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเหล็กลวดและการส่งออกที่ลดลง กอปรกับอุตสาหกรรมเหล็กช่วงนี้อยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง ราคาขายถูกกดดันจากราคาเศษเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง
ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปีงบการเงิน 2567 TSTH มีรายได้จากการขาย 6,080 ล้านบาท ต่ำลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 7,625 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดและปริมาณการขายที่ลดลง และมีผลขาดทุนสุทธิ 57.45 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 79.17 ล้านบาท