xs
xsm
sm
md
lg

“พรีเมียมเอาต์เลต” ปรับเกมรุก ชูร้านสเปเชียลตี้-จัดงานนี้มีโละ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “พรีเมียมเอาต์เลต” ปรับกลยุทธ์รุกใหม่ หลังเจอโควิดเล่นงานอย่างหนัก ชะลอเปิดเอาต์เลตมอลล์แบบใหญ่ ชูธงเปิดร้านเล็กแบบสเปเชียลตี้สโตร์ ล่าสุดผนึกกับวอริกซ์ เปิด 3 สาขารวด พร้อมจัด “งานนี้มีโละ” ดึงลูกค้าท้องถิ่นคนไทยมากขึ้น หวังดันรายได้รวมปีนี้กลับมาที่ 2,400 ล้านบาท


นางรจนี บุญญารัชต์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เอาท์เล็ท มอลล์ จำกัด ผู้บริหารโครงการพรีเมียมเอาต์เลต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเอาต์เลต ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักของเอาาต์เลตส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 80% ซึ่งช่วงโควิดระบาดหนักถึงขั้นต้องปิดประเทศ ทำให้ไม่มีการเดินทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติหายหมด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาตามลำดับ มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่่ยวไทยและเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการแล้วประมาณ 15% จากปริมาณเดิม

ช่วงโควิดบริษัทฯ จึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนและการทำตลาดใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ รวมทั้งวางทิศทางการดำเนินธุรกิจใหม่จากนี้ไป


ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังไม่มีแผนและไม่เน้นที่จะลงทุนเปิด พรีเมียมเอาต์เลต ขนาดใหญ่แบบเดิม แต่จะหันมาเน้นกลยุทธ์การเปิดร้านแบบสเปเชียลตี้สโตร์ หรือ Category Killer เป็นร้านขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม หรือร้านค้าที่เป็นสินค้าเฉพาะทาง ขนาดเล็ก พื้นที่เฉลี่ย 300-500 ตารางเมตรต่อสาขา ซึ่งง่ายต่อการหาพื้นที่และลงทุนไม่มาก

พรีเมียมเอาต์เลตได้ปรับกลยุทธ์ใหม่สร้างความหลากหลายในพื้นที่ศูนย์การค้าด้วยการทยอยเปิดร้าน Category Killer เป็นร้านขายสินค้าเฉพาะกลุ่ม มารองรับกับคู่ค้าที่ไม่พร้อมลงทุนร้านของตัวเอง ด้วยรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่ 500 ตร.ม.ขึ้นไป ประกอบด้วย Golf Challenge (ร้านรวมอุปกรณ์กีฬากอล์ฟ), Sport Stadium (ร้านรวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา), Kids Zone (ร้านรวมเสื้อผ้า ของใช้ ของเล่นเด็ก), Brabara (ร้านรวมแบรนด์ชุดชั้นใน ชุดนอน สำหรับสุภาพสตรี), Men’s Wear (ร้านรวมแบรนด์เสื้อผ้า Accessories สำหรับสุภาพบุรุษ), Luggage Store (ร้านรวมกระเป๋า และอุปกรณ์การเดินทาง), Jeans Station (ร้านรวมเสื้อผ้ายีนส์), Cucina (ร้านรวมอุปกรณ์เครื่องครัว และของแต่งบ้าน), Factory Brand Shoes (ร้านรวมรองเท้า กระเป๋า เครื่องหนัง)

โดยปลายปีนี้จะเปิดร้านขายรองเท้าเฉพาะสาขาแรกในกรุงเทพฯ จากนั้นในปีหน้า(2567) จะเปิดเพิ่มอีกไตรมาสละ 2 สาขา
ล่าสุดร่วมมือกับทาง บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) เปิดเป็นสเปเชียลตี้สโตร์ ซึ่งมีจำหน่ายสินค้าใหม่ตามฤดูกาลและสินค้าตกรุ่น และในอนาคตอาจจะวางแผนร่วมมือกันผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท TFC (Tier Factory Outlet) และมีแผนที่จะขยายสาขาของวอริกซ์ไปที่สาขาหัวเมืองอื่นๆ ที่มีเอาต์เลตมอลล์เปิดบริการมากขึ้น ภายใน 2 ปีจากนี้ ปัจจุบันร่วมมือกับทางวอริกซ์เปิดบริการในพื้นที่ของเอาต์เลตมอลล์แล้ว 3 สาขาคือ พัทยาเปิดมีนาคมปีนี้ สาขาอยุธยาเปิดเดือนเมษายน และสาขาเขาใหญ่เปิดเมือเดือนมิถุนายน จากทั้งหมดที่บริษัทฯ มี 8 สาขา ซึ่งที่เหลือคือ ชะอำ, กระบี่, ภูเก็ต, เชียงใหม่ และอุดรธานี


นอกจากนั้นที่ผ่านมาได้เสริมตลาดกลุ่มเป้าหมายคนท้องถิ่นมากขึ้นในช่วงรอการกลับมาของนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ด้วยการจัดกิจกรรมผ่านงานแฟร์ลดราคา ภายใต้ชื่อ “งานนี้มีโละ” โดยเปลี่ยนมาจัดในพื้นที่อีเวนนต์แทนที่จะจัดในห้องแอร์ เพราะโควิดจะแพร่กระจายในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น โดยจัดครั้งแรกจัดพื้นทีลานอีเวนต์ของเอาท์เล็ท สาขาอยุธยา มีผู้คนเข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน ประสบความสำเร็จอย่างดี และยังมีงาน “โละสัญจร” ที่เป็นรูปแบบ พรีเมียม ในจังหวัดเมืองรองนอกเหนือจากพื้นที่ที่มีขายของเอาท์เล็ท

รวมทั้งการทำตลาด O2O (Online to Offline) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างข้อดีของการขายของบนโลกออนไลน์ ผ่านแฟนเพจของเอาต์เลตทุกสาขา ปัจจุบันมีฐานแฟนเพจมากกว่า 7 แสนคน และปิดการขายที่ศูนย์ฯ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งวิฌธีการทำแบบนี้ยังช่วยสร้างการรับรู้ และสร้างความต้องการผ่านการโพสต์และไลฟ์สตรีมและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ด้วย

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น และเอาต์เลตมีลูกค้าต่างชาติกลับมาจับจ่ายแล้ว 40% จึงวางแผนที่จะลดจำนวนการจัดโละสัญจรลดราคาสินค้าลงเหลือปีละ 30 ครั้งเท่านั้น จากเดิม 60 ครั้งต่อปี

นางรจนีกล่าวว่า จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ คาดว่าภายในปีนี้ (2566) บริษัทฯ จะทำยอดขายได้รวม 2,400 ล้านบาท ซึ่งเริ่มที่จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดที่เคยทำได้สูงสุดที่ 3,000 ล้านบาท โดยยอดขายปี 2564 อยู่ที่ 1,600 ล้านบาท เพราะผลกระทบอย่างหนักจากโควิด ส่วนปี 2565 รายได้ดีขึ้นเพิ่มเป็น 2,100 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น