xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดจระเข้กลับมาแล้ว!! หลังเปิดฟรีวีซ่า ฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ฯเผยจระเข้ขาดตลาดราคาพุ่ง 2,000 บาท/ตัว หลังโควิดทำราคาร่วงเหลือตัวละ 500 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การกลับมาของทัวร์จีน ในช่วงมาตรการฟรีวีซ่า ช่วยกระตุ้นตลาดผู้ค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจระเข้ ของฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ากลุ่มหลัก เพราะคนจีนชื่นชอบผลิตภัณฑ์แปรรูปจระเข้เป็นอย่างมาก แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ในช่วงสถานการณ์โควิด และ การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ  ตลาดจีนเป็นลูกค้าหลักหายแบบ 100% พอไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ยอดขายลดลงไปเป็นจำนวนมาก


ทายาทรุ่นที่ 3 ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์
โรงชำแหละเบอร์ต้นเมืองไทย


นายณัฐวุฒิ อิ่มวุฒิกุล เจ้าของฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ตนเองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 จากจุดเริ่มต้นของการพัฒนาฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เมื่อ 30-40 ปีก่อน เพื่อต้องการใช้เป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ การเลี้ยง การขยายพันธุ์จระเข้ ตกทอดมาถึงตนเองเป็นทายาท รุ่นที่ 3 ในฐานะลูกชาย ก็ได้เข้ามารับช่วงบริหารงานต่อจากอากง (ปู่) มาสู่อาปา (พ่อ)

จุดเริ่มต้นของการมาทำฟาร์มจระเข้ ของอากง เกิดขึ้นมาจากความชอบส่วนตัวของอากง ชอบเลี้ยงจระเข้อยู่แล้ว และตอนนั้น ไม่มีใครเลี้ยงเชิงพาณิชย์ มีเลี้ยงแค่ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ คนที่เลี้ยงจระเข้ไม่รู้จะไปขายที่ไหน อากงแก่ก็เลยรับซื้อมาเลี้ยงต่อเอง เยอะขึ้นจนกลายเป็นฟาร์มจระเข้


พอมาถึงรุ่นคุณพ่อ ถึงได้มีการต่อยอด โดยการเปิดโรงชำแหละขายหนังสดและเนื้อสด ในส่วนของหนังสดจะส่งให้กับโรงฟอก ส่วนเนื้อสดจะส่งให้กับพ่อค้านำไปแปรรูปขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ฟาร์มที่สามารถเปิดโรงชำแหละจระเข้ในประเทศไทยมีไม่กี่ราย เพราะมีขั้นตอนเยอะ เป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงจระเข้ จะต้องนำจระเข้มาส่งขายให้กับเรา เป็นที่มาว่าทำไมฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทถึงเป็นที่รู้จัก ในฐานะโรงชำแหละจระเข้รายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ที่มีเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงจระเข้จากทั่วประเทศ



ผลกระทบเกิดกับผู้เพาะเลี้ยงจระเข้ หลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันในส่วนของฟาร์มจระเข้วัดสิงห์เอง มีการเพาะเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มเพียงแค่ 1,000 ตัว ที่เหลือจะเป็นจระเข้ที่รับซื้อจากเกษตรกรมาชำแหละ ที่ผ่านมา การเพาะเลี้ยงจระเข้ เจอปัญหาทำให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงจระเข้ เลิกเลี้ยงไปเยอะ เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปจระเข้ ขายไม่ได้ เนื่องจากตลาดหลักของเรา คือ จีน และเกิดปัญหา คือ เรื่องการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ จากประเทศต้นทาง คือ จีน นักท่องเที่ยวหายไปเยอะ และมาเจอสถานการณ์โควิด ซ้ำเติมเข้าไปอีก เกษตรกรเลิกเลี้ยงไปกว่าครึ่ง เพราะไม่รู้จะเอาจระเข้ไปขายที่ไหน ราคาจระเข้ตกลงไปเหลือตัวละ 500 บาท ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับจระเข้ทั้งหมดดิ่งลงทันที เจ้าของฟาร์มจระเข้หลายแห่งปิดกิจการ หนังจระเข้ ขนาด 2 เมตร จากเดิมขายราคาหลักหมื่น ลดลงเหลือ 500 บาทต่อผืน

แต่ตอนนี้ สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอย มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางกลับเข้ามา ราคาจระเข้ เริ่มขยับขึ้นมาเรื่อยจาก 1,500 บาท ตอนนี้ ซื้อขายกันที่ 2,000 บาท สำหรับจระเข้อายุ 2 ปีถึง 5 ปี ในส่วนของผลิตภัณฑ์จากหนังจระเข้ที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ ราคากลับมาปกติ จากเดิมในช่วงก่อนหน้านี้ ราคาขายเช่นกระเป๋าสตางค์ที่ผลิตจากหนังจระเข้ เดิมขายนักท่องเที่ยวใบละ 2,500 บาท ในช่วงไม่มีนักท่องเที่ยวต้องนำมาลดราคาขายคนไทย ในราคาใบละ 1.000 บาท เป็นต้น


ณัฐวุฒิ เล่าว่า ในอดีต นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบอย่างมากเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากหนังจระเข้ มาเมืองไทยหนึ่งครั้งจะซื้อกลับบ้านไปไม่ต่ำกว่าคนละ 3 ชิ้น เข้ามา 1 ล้านคน ก็ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากหนังจระเข้ ถึง 3 ล้านชิ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเพื่อจะแปรรูปจากหนังจระเข้สด ในขนาดลำตัว 2 เมตร มีความต้องการอย่างมากในตลาด เพื่อนำไปผลิตเป็นกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ฯลฯ ออกมาจำหน่ายขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นกำลังซื้อสำคัญและใหญ่สุดในตลาดเครื่องหนัง


ตลาดจระเข้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

จนมาปี 2566 นี้ คุณณัฐวุฒิ เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจแปรรูปหนังสด&เนื้อสดจระเข้ ของฟาร์มเรา คือ ฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งเนื่องจากตลาดท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ฮ่องกง เข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้เกิดจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจระเข้ มากขึ้น ทั้งในส่วนของเครื่องหนัง และ การบริโภคเนื้อจระเข้

ทั้งนี้ ทำให้การแปรรูปหนังสด&เนื้อสดจระเข้ จากฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ ฯ เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นฟาร์มจระเข้ ฯ ที่จะจับจระเข้เป็น ๆ จากปากบ่อ เพื่อจะนำไปฆ่า ชำแหละ ที่โรงเชือด เท่านั้น ส่งผลให้โรงฟอก รวมถึงผู้ผลิตได้รับของที่สดใหม่มากกว่า การได้เนื้อ และหนังจากจระเข้ที่ถูกฆ่าให้ตายจากปากบ่อ มาแล้ว ประกอบกับการใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook เป็นช่องทางการสื่อสารเข้าไปในกลุ่มตลาดเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการรับซื้อหนังจระเข้ และเนื้อจระเข้ จนเป็นรู้กันในตลาดว่าถ้าต้องการหนังจระเข้ และเนื้อจระเข้ สด ๆ ต้องมาซื้อที่ฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท


"เพราะไม่ใช่ทุกฟาร์มที่จะมีคน หรือทีมงานที่จะมีทักษะ ความสามารถจับจระเข้เป็น ๆ แล้วมัดปาก มัดแขน มัดหาง แบกใส่รถกระบะ เพื่อมาฆ่า ชำแหละ ที่โรงเชือด ได้ การฆ่าจระเข้ให้ตายจากปากบ่อง่าย แต่สิ่งที่ได้รับคือ ผู้ซื้อจะได้หนังและเนื้อที่ไม่สด เนื่องจากจระเข้เป็นสัตว์ที่ตายเมื่อไร เนื้อจะเน่าไหว ไม่สด"

ดังนั้นด้วยทักษะทีมงานการจับจระเข้กว่า 30 คน ของฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ ฯ ที่เป็นอาชีพเฉพาะ ต้องใช้ระยะเวลาอย่างมากกว่าจะฝึกฝนจับจระเข้เป็น ๆ ได้ เพราะเป็นสัตว์ที่น่ากลัว พร้อมจู่โจม จึงทำให้การแปรรูปหนังสด&เนื้อสดจระเข้ จากฟาร์มจระเข้ วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เป็นที่ต้องการอย่างมาก สำหรับผู้ประกอบการทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และร้านอาหาร รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งจีน เกาหลี ฮ่องกง รวมถึงคนไทยที่ปัจจุบันเริ่มเปิดใจหันมาบริโภคเนื้อจระเข้กันมากขึ้น

ติดต่อโทร 08-1886-7698
Facebook ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ โจ้วัดสิงห์

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น