กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพ เร่งส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปาล์มน้ำมัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มอย่างคุ้มค่า พร้อมเสริมองค์ความรู้ทีมและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง กระจายความรู้ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการเติบโต คาดสร้างรายได้แก่วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการกว่า 15 ล้านบาท
นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพที่มุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพ หรือชีวมวล ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรมด้วยการยกระดับตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การนำความรู้ระดับสูงด้านเทคโนโลยีชีวภาพและต้นทุนด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทย มีอยู่มากมาขับเคลื่อน เน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก” อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นแหล่งวัตถุดิบชีวมวลจากภาคการเกษตรทั้งปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบชีวภาพที่เหลือจากกระบวนการผลิตในภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตเหล่านี้ และนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะหันมาต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต
ทั้งนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ จึงได้ดำเนินการการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชีวภาพ ภายใต้นโยบายดีพร้อมโต ของนายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงส่งเสริมยกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งและมีศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งผลดีต่อประเทศ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็น 1 ใน 3 พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่จะสามารถนำมาสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยดีพร้อมได้เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจผู้ประกอบการไทย รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
นายพลาวุธ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและวิสาหกิจด้านปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม และเคมีชีวภาพ จำนวน 6 กิจการ เพื่อพัฒนา 4 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ส่วนประกอบจากปาล์มน้ำมันแปรรูป ได้แก่ 1. ครีมทำความสะอาดเครื่องหนังอเนกประสงค์ 2.แว็กซ์ขัดรองเท้า 3.โลชั่นบำรุงผิว และ 4.โลชั่นกันแดด ในการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นรวบรวมข้อมูลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในการพัฒนา การด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ฉลากผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบุคลากรและเครื่องจักร ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยแปรรูปปาล์มน้ำมันเพื่อแยกหรือสกัดเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ 1. แคโรทีนอยด์ในน้ำมันปาล์มแดง ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเพิ่มคุณค่าต่างๆ เช่น วิตามิน E คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และทำให้ผิวชุ่มชื้น และ 2. ไขปาล์ม (Palm wax) ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ตลอดจนสามารถใช้สำหรับผสมสารสกัดหรือสมุนไพร เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
ทั้งนี้จากการดำเนินการพัฒนา 4 ผลิตภัณฑ์ และ 2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้แก่วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการกว่า 15 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ดีพร้อมยังจัดการสัมมนา และ Workshop หลักสูตรระยะเวลา 2 วัน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่ได้จากการดำเนินโครงการ เสริมองค์ความรู้ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมวัฒนาพาร์ค จังหวัดตรัง และณ โรงแรมขนอมซันไรส์ รีสอร์ทแอนด์โฮเทล จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 7 - 12 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อขยายผลการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาและ Workshop ดังกล่าว กว่า 240 คน.