xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.โชว์ยอดขาย/เช่าที่ดินปี 66 พุ่ง 182% ตั้งเป้าปีงบ 67 ไว้ที่ 3,000 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.เปิดตัวเลขผลการดำเนินงานปีงบ 66 ยอดขาย/เช่าพื้นที่แตะ 5,693 ไร่เพิ่มขึ้น 182% ทะลุเป้าหมายที่วางไว้ 2,500 ไร่ คาดการณ์ยอดขาย/เช่าที่ดินปี 2567 แย้มปี 67 ไว้ที่ 3,000 ไร่ เดินหน้าดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ควบคู่กับการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายของ “พิมพ์ภัทรา” เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย


นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2566 ว่า ปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565-ตุลาคม 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 182% เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 กนอ.ได้ประมาณการยอดขาย/เช่าที่ดิน ไว้ที่ 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ในอีอีซี 2,700 ไร่ และนอกอีอีซี 300 ไร่

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอีอีซี คาดว่าเป็นผลจากโครงการวีซ่าพำนักระยะยาว ( LTR Visa) ที่ใช้อย่างเป็นทางการ ทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งปีที่ผ่านมา กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่เท่านั้น แต่ผู้พัฒนานิคมฯ และ กนอ.กลับสร้างยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 5,693 ไร่ และการดำเนินงานในปีงบ 2567 จะเร่งดึงดูดการลงทุนให้สอดรับตามนโยบายของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างเคร่งครัด เช่น การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การยกระดับการให้บริการอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม” นายวีริศกล่าว


ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 190,150 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ประมาณ 42,034 ไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 148,117 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 127,719 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้วประมาณ 101,975 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,744 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 10.88 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,828 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 994,696 คน ส่วนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 53 แห่ง

ขณะเดียวกัน กนอ.ยังดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 65.09% และ 2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์กบนพื้นที่โครงการ 1,384 ไร่ ตั้งเป้าระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 36 เดือน (ตั้งแต่ 30 ก.ย. 64-14 ก.ย. 67) ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 70.02% คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก (Smart Park)


ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการตามวิสัยทัศน์ของ กนอ. ได้แก่ 1. โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาคร บนพื้นที่ 4,131 ไร่ ล่าสุดอยู่ระหว่างให้บริษัทที่เป็นผู้รับดำเนินการขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและประกอบอุตสาหกรรม 2. โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ได้จัดทำข้อบังคับคณะกรรมการ กนอ.ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 สิงหาคม 2566

3. โครงการ Digital Twin ดำเนินโครงการนำร่องที่นิคมฯ สมุทรสาคร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยจะขยายผลไปยังนิคมที่ กนอ.ดำเนินการเองอีก 13 แห่ง 4. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ที่สามารถลด GHGs ในภาพรวมอยู่ที่ 1,231,270 tCO2e สร้างโรงงานเครือข่ายลด GHGs จำนวน 31 โรงงาน

นอกจากนี้ กนอ.ยังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ โดยจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมฯ รวมถึงรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น