xs
xsm
sm
md
lg

รมว.อุตฯลง”ชุมพร”รับข้อเสนอเอกชนเร่งแก้อุปสรรค-ดึงลงทุนขับเคลื่อนศก.ใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่จังหวัดชุมพรพร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรมและจัดประชุมขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา ร่วมกับ ภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร สภาหอการค้าจังหวัดชุมพร และสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร

ทั้งนี้ภาคเอกชนได้มีการเสนอหลัก ๆ อาทิ ให้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้กับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่ง(ลอจิสติกส์)ที่พบว่าปัจจุบันจ.ชุมพรที่เป็นประตูสู่ภาคใต้แต่ถนนที่มีอยู่ 4 เลนไม่สอดรับกับเศรษฐกิจที่จะเติบโตในอนาคตได้มีการเสนอให้พัฒนาเป็น 8 เลนแก้คอขวดขณะเดียวกันยังจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ และยังรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต ฯลฯพร้อมกันนี้ยังแสดงความกังวลถึงกระแสข่าวการชะลอโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (จ.ชุมพร จ.ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์

น.ส.พิมพ์พัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรมกล่าวยืนยันกับเอกชนว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องที่ร่วมกับทุกส่วนและยินดีที่จะรับฟังปัญหาสามารถติดต่อส.ส.ของพรรคในพื้นที่ได้ตลอดเวลา ส่วนความกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ที่ริเริ่มจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศนั้นก็มีความชัดเจนแล้วจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมที่ก็ได้ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการต่อไป

 


อย่างไรก็ตามกนอ.จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อดึงการลงทุนและเชื่อมต่อเศรษฐกิจชุมพร-ระนอง และได้มอบให้ศึกษาตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุนและสอดรับกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยจะเน้น 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

สำหรับการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับเหมืองแร่และป่าไม้ เพราะแร่บางชนิดอยู่ในพื้นที่ป่าเขา 2.การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ 3.การเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาของปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะภัยแล้งในพื้นที่ที่ส่งผลต่อคุณภาพของวัตถุดิบ ขณะเดียวกันจะเร่งส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยการสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะทุกจังหวัดทั่วประเทศ


พร้อมกันนี้รมว.อุตสาหกรรมได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมการดำเนินงาน บริษัท สมบูรณ์ศิลาทอง จำกัด หนึ่งในต้นแบบสถานประกอบการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง และโรงโม่ บดและย่อยหิน ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ สามารถประกอบกิจการโดยไม่มีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน จนได้รับรางวัลอุตสาหกรรม สีเขียวระดับ 3 (Green System) รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award 2017 -2021) และสถานประกอบการที่มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องปี 2563
กำลังโหลดความคิดเห็น