xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้าไทยปรับลดจีดีพีปี 66 เหลือ 3% แม้ท่องเที่ยวฟื้น ลดไฟฟ้า น้ำมัน พักหนี้ ก็ดันไม่ขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม.หอการค้าไทยปรับลดจีดีพีปี 66 ลงเหลือ 3% จาก 3.6% เหตุได้รับผลกระทบจากส่งออกลด ภัยแล้ง การบริโภครัฐบาลชะลอ ลงทุนลด แม้ภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัว การบริโภคเอกชนดีขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งลดค่าไฟ น้ำมัน พักหนี้ จะช่วยผลักดัน แต่ก็ฉุดขึ้นไม่ไหว เผยคนมองเงินดิจิทัล ฟรีวีซ่า กระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่ และลดน้ำมัน ไฟฟ้า ช่วยลดค่าครองชีพจริง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลงเหลือ 3.0% จากเดิมคาดการณ์ 3.6% เพราะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่าลดลง 322,782 ล้านบาท การสะสมสินค้าคงคลังลดลง 673,799 ล้านบาท ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง (ปรากฏการณ์เอลนีโญ) มูลค่าลดลง 38,619 ล้านบาท การบริโภคอุปโภคภาครัฐบาล มูลค่าลดลง 158,789 ล้านบาท การลงทุนภาครัฐมูลค่าลดลง 10,102 ล้านบาท และการลงทุนภาคเอกชนมูลค่าลดลง 80,601 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่า 294,000 ล้านบาท การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นมูลค่า 322,794 ล้านบาท การนำเข้าสินค้าปรับตัวลดลงมูลค่า 495,318 ล้านบาท มาตรการลดค่าครองชีพมูลค่า 65,716 ล้านบาท เช่น ลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน และมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร มูลค่า 7,223 ล้านบาท

“ได้นำตัวเลขผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปัจจัยบวกและลบมาหักลบกัน โดยปัจจัยบวกมีมูลค่า 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.98% ต่อจีดีพี และปัจจัยลบมีมูลค่า 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นติดลบ 7.57% ต่อจีดีพี เมื่อปัจจัยลบมีผลมากกว่า ทำให้ปรับลดจีดีพีปี 2566 ลงจาก 3.6% มาเหลือที่ 3%” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับผลการสำรวจทัศนคติต่อนโยบายลดค่าครองชีพและประเด็นอื่นๆ จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,220 คน ระหว่างวันที่ 19-24 ก.ย. 2566 พบว่า มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จำนวน 79.4% ตอบว่า กระตุ้นได้ดีมาก รองลงมา 19.6% กระตุ้นได้ปานกลาง และ 1.0% ตอบว่ากระตุ้นได้น้อย มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน 45.1% ตอบว่ากระตุ้นได้ดีมาก รองลงมา 29.4% กระตุ้นได้ปานกลาง และราว 20.5% ตอบว่ากระตุ้นได้น้อย

สำหรับมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซล 77.7% ตอบว่า ช่วยลดค่าครองชีพได้มาก รองลงมา 19.6% ช่วยได้ปานกลาง และ 2.7% ช่วยลดได้น้อย และมาตรการลดค่าไฟฟ้า 70% ตอบว่าช่วยได้มาก รองลงมา 28.6% ช่วยได้ปานกลาง และ 1.4% ช่วยได้น้อย

ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่าทัศนคติต่อเศรษฐกิจ 47.4% ตอบว่า เศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา 40.4% ตอบว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ 6.8% ตอบว่าเศรษฐกิจแย่ลงมาก แต่การคาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือเศรษฐกิจปี 2567 จำนวน 67.2% ตอบว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น รองลงมา 30.3% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1.3% ตอบว่าดีขึ้นมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมองว่าเศรษฐกิจปี 2567 จะดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น