xs
xsm
sm
md
lg

มติ ครม.กดดันหุ้นไฟฟ้า & น้ำมัน สวนทางค้าปลีก Q4 พุ่ง-ต้นทุนลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพรวมผลกระทบมติ ครม.ลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน กดดันกำไรหุ้นกลุ่มพลังงานหดตัว ประเมินหุ้นโรงไฟฟ้าต้องรอจังหวะย่อตัว หลังราคาขายไฟฟ้ากลุ่มโรงงงานอุตสาหกรรมจะเห็นผลกระทบเด่นชัด เช่นเดียวกับหุ้นปั๊มน้ำมันราคาขายลดลง ฉุดตัวเลขกำไรตก ขณะกลุ่มโรงกลั่นไม่สะเทือน แถมยกกลุ่มค้าปลีกโดดเด่นสุด จากช่วงไฮซีซั่นและต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำลง ส่วนภาพรวมช่วงที่เหลือทั้งปีหุ้นไทยเติบโตต่อเนื่องถึงปี 67

เรียกได้ว่าแค่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ของ “รัฐบาลเศรษฐา”ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะกลุ่มเสาหลักอย่างพลังงานและไฟฟ้า เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบ เน้นไปที่การช่วยเหลือภาคประชาชน ลดค่าครองชีพ ทั้งการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล

โดยในด้านราคาน้ำมัน จะลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา จนถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่การลดค่าไฟฟ้า ครม.เห็นชอบปรับลดเป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จากเดิม 4.45 บาท ซึ่งจะเริ่มรอบบิลตั้งแต่สิ้นเดือนนี้ (ก.ย.) ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งนี้เป้าหมายของมติครม.ดังกล่าว รัฐบาลหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้อีกนั่นเอง

หุ้นโรงไฟฟ้ารับผลกระทบ

เริ่มกันที่การลดค่าไฟฟ้าเป็น 4.10 บาท/หน่วยจาก 4.45 บาท/หน่วย นักวิเคราะห์ มองว่ามาตรการดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นรวดเร็ว เนื่องเดิมสูตรค่าไฟฟ้า ไม่รวมค่า AF คาดว่าจะเริ่มใช้ในงวดหน้าเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 และ ตัวเลข 4.10 บาท/หน่วยอยู่ ณ กรอบล่างที่ประเมินไว้ ดังนั้นทำให้เกิดแรงขายต่อโรงไฟฟ้า SPP ออกมา โดยประเมินว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันของรัฐบาลใหม่ที่ออกมา ส่งผลกระทบต่อกำไรหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าประมาณ 5-10% จากประมาณการกำไรรวมทั้งหมดปีนี้

สำหรับหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) , บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH), บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) รวมทั้งหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อย่างเช่น บมจ. บีซีพีจี (BCPG), บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)

หุ้นปั๊มน้ำมันโดนหางเลข

ขณะที่การลดราคาน้ำมันดีเซลที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่งให้ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล ใช้กลไกภาษีสรรพสามิต ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน ใช้กลไกค่าการตลาด มาตรการดังกล่าวจะเป็นบวกกับกลุ่มเช่าซื้อรถบรรทุก และ กลุ่มโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะกลุ่มสถานีบริการน้ำมัน จะได้รับผลกระทบประมาณ 5% ของกำไรในปี 2566

โดยในกลุ่มสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลและเบนซิน ได้แก่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG), บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) และ บมจ. ซัสโก้ (SUSCO)

ไฟฟ้าต้องรอโอกาสเข้าเก็บ

“กรภัทร วรเชษฐ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่าข่าว ครม.มีมติลดค่าไฟทันทีงวด ก.ย.-ธ.ค.66 เพิ่มอีก 0.11 บาท/หน่วย เมื่อรวมกับมติ ครม. รอบก่อนที่อนุมัติลดค่าไฟลง 0.35 บาท/หน่วย จะเท่ากับต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยลงทั้งสิ้น 0.46 บาท/หน่วย ลดลง 10% เหลือ 3.99 บาท/หน่วย

“ค่าไฟถือเป็นอีกหนึ่งในต้นทุนสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม คิดเป็นสัดส่วนราว 6-10% ของต้นทุนรวม ฝ่ายประเมินจากค่าไฟที่ลดลง จะส่งผลให้กำไรปี 67 ของกลุ่มฯ มี upside ราว 2.1-5% เช่นเดียวกับ กลุ่มค้าปลีก(ค่าไฟ 0.7-2.8% ของต้นทุน) แต่เป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานลูกค้าอุตสาหกรรมสูง อาทิ GPSC (36-38% ของปริมาณจำหน่ายไฟรวม) BGRIM (26-28% ของปริมาณจำหน่ายไฟรวม) ระยะสั้นหลีกเลี่ยงไปก่อน GULF (< 9% ของปริมาณจำหน่ายไฟรวม)จำกัด โดยรอให้ราคาปรับตัวจึงเข้าลงทุน”

ขณะที่ บล.กสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาท จาก 4.45 บาท เริ่มรอบบิลเดือน ก.ย. 2566 ทำได้ ผ่านการลดค่า Ft เพิ่มเติม ทั้งนี้ค่า Ft ที่ลดลงรวม 35 สตางค์ต่อหน่วย สอดคล้องกับค่าพลังงานที่ลดลงจริง ทำให้ค่าไฟฟ้าปัจจุบันสอดคล้องกับต้นทุนพลังงาน

แต่การลดค่า Ft ทุก ๆ 10 สตางค์ กระทบกำไรของหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP อยู่ประมาณ 5-8% อาทิ BGRIM, GPSC แต่ถ้าเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP เช่น EGCO, GULF, RATCH จะกระทบกำไรราว 2-3% ทำให้คาดว่าราคาหุ้นมีดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว

BCP รับผลกระทบน้อย

นอกจากนี้ บล.กสิกรไทย ประเมินผลกระทบจากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินว่า ในส่วนของ BCP และ ESSO จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากมีกำไรจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยค่าการตลาดที่ลดลง หลังจากค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ OR สัดส่วนค้าปลีกเบนซิน 40% จะได้รับผลกระทบต่อกำไรในไตรมาสที่ 3/66 ประมาณ 600 ล้านบาท และ PTG สัดส่วนค้าปลีกเบนซิน 20% จะกระทบต่อกำไรประมาณ 100 ล้านบาท เนื่องจากมี Stock Loss ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซิน แต่ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มพลังงานได้ปรับตัวลงมามากแล้ว จึงไม่น่าจะมีผลต่อราคาหุ้นขณะนี้มากนัก

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ  การปรับลดราคาน้ำมันดีเซล จะต้องปรับลดอีกประมาณ 2 บาท/ลิตร จากราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันที่อยู่เกือบ 32 บาท/ลิตร ซึ่งวิธีการลดราคาน้ำมันดีเซลจะผ่านการลดภาษีสรรพสามิตและเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งตอนนี้รัฐอุดหนุนโดยใช้กองทุนน้ำมันฯ อยู่ประมาณ 7 บาท/ลิตร เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลดเหลือ 30 บาท/ลิตร รัฐบาลต้องหาเงินมาอุดหนุน 9 บาท/ลิตร อาจเป็นลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 4 บาท จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิตยู่ประมาณ 6 บาท และกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนต่ออีก 5 บาท

ปัจจุบัน สถานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 1.43 หมื่นล้านบาท หากรวมก๊าซ LPG จะติดลบประมาณเกือบ 6 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีวงเงินกู้อยู่ราว 1 แสนล้านบาท แต่เหลือวงเงินกู้อีก 5 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่าจะอยู่ได้อีกประมาณ 5 เดือน

หุ้นโรงกลั่นกระทบไม่มาก

บล.เอเซีย พลัส รายงานว่า จากมติครม.ดังกล่าว หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนว่าจะส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น-โรงไฟฟ้า โดยเริ่มจากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นการปรับลดผ่านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ปัจจุบันภาครัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร

ดังนั้น ภาครัฐยังสามารถใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกในการช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตรได้ และจะไม่กระทบต่อกลุ่มโรงกลั่น หรือผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมัน แต่จะกระทบเพียงภาครัฐที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจะลดลง

จังหวะนี้ แนะนำทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นเมื่อราคาอ่อนตัวลงมา หรือเข้าใกล้แนวรับสำคัญทางเทคนิค เช่น บมจ.ปตท (PTT), บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC)

สำหรับการลดค่าไฟฟ้า ซึ่งยังต้องรอสรุปอย่างเป็นทางการว่า จะใช้วิธีการใด สามารถจำแนกออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีแรกหากรัฐบาลสามารถใช้วิธีการยืดการชำระหนี้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ออกไป อาจส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) ของกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ที่มีสัดส่วนขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง อย่าง GPSC ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 30% ของรายได้รวม

เช่นเดียวกับ BGRIM ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 27% ของรายได้รวม ตลอดจน GULF มีสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 13% ของรายได้รวม

ขณะที่อีกวิธีคือ หากใช้การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หรือ 500 หน่วย/เดือน จะไม่มีผลกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP แต่อย่างใด

ค้าปลีกมาแรงราคายังต่ำ

ขณะที่หุ้นกลุ่มไฟฟ้าและพลังงานได้รับผลกระทบจากมติครม.ที่ต้องการลดค่าครองชีพให้ประชาชน แต่ก็มีกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์เรื่องดังกล่าวด้วยเช่น โดยกลุ่มค้าปลีกถือเป็นกลุ่มหุ้นหลักที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ เมื่อบวกกับราคาหุ้นที่ลดลงมาก่อนหน้าทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจเข้าลงทุน จาก Valuation ที่ไม่แพงแล้ว

ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อได้ปัจจัยหนุนใหม่เข้ามาจากมาตรการของภาครัฐที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่เป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจค้าปลีก ยิ่งช่วยหนุนความสามารถการทำกำไรให้ดีขึ้น นอกเหนือจากโอกาสการเติบโตอย่างโดดเด่นช่วงเข้าสู่ไฮซีซั่นปลายปี

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส3/66 ของกลุ่มค้าปลีก ยังจะเห็นการเติบโตทั้งเทียบปีและไตรมาสก่อน หลังจากก่อนหน้านี้หุ้นกลุ่มค้าปลีกปรับตัวลงมาต่อเนื่องจากความกังวลการแข่งขันในกลุ่มที่รุนแรงขึ้น เมื่อ บมจ.เซ็นทรัลรีเทล (CRC) โดดเข้ามาร่วมวงสู้ศึกในธุรกิจค้าส่ง

ขณะที่นโยบายเงินดิจิทัลคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ต้นปีหน้า อาจทำให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งชะลอไปเพื่อรอใช้จ่ายจากมาตรการดังกล่าว จึงมีมุมมองว่าค้าปลีกปลายปีอาจจะไม่คึกคักมากนัก ขณะเดียวกันแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ทำให้ในช่วงเวลานี้ นักวิเคราะห์หลายคน แนะนำนักลงทุนพิจารณาหุ้นกลุ่มค้าปลีก เพราะมองว่าราคาหุ้นลดลงมามากแล้ว จึงเป็นโอกาสทยอยสะสม เพราะในช่วงครึ่งปีหลังผลประกอบการน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยว หลักๆมาจากความสามารถทำกำไรดีขึ้น Gross Profit ปรับสูงขึ้น จากการปรับราคาขาย และค่าไฟที่ปรับลดลงมาราว 10-15% จากปีก่อน เพราะรับประโยชน์จากนโยบายลดค่าไฟฟ้า

ทิศทางตลาดหุ้นไทย

นางสาวดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) กล่าวว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นต่อได้ใน 6-12 เดือนข้างหน้า จาก 4 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจที่คาดว่ายังเติบโตได้ดีจากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดจำนวนนักท่องเที่ยวปี2566 จะแตะ 27-30 ล้านคน ผนวกกับการบริโภคในประเทศที่ยังเติบโตได้ดี แม้ส่งออกจะฟื้นตัวช้ากว่าคาด และขาดเม็ดเงินลงทุนจากรัฐบาลช่วงระหว่างเปลี่ยนผ่าน โดยคาดการณ์จีดีพีปีนี้ยังโตได้ 3.1% หลังจากได้รัฐบาลใหม่

ขณะเดียวกัน กำไรบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีหลังของปี 2566 คาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยกลุ่มที่ยังมี upside potential ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก

โดยนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะทยอยออกมา จะเริ่มส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไปและ Valuation หุ้นไทยยังถือว่าถูก ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบจากดัชนีไทยหุ้นตั้งแต่ต้นปี และย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2562 ยังเป็นประเทศที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงมองโอกาสที่เงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทย

ดังนั้น บลจ.อเบอร์ดีนมองหุ้นไทย downside risk ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ upside ยังเปิดอยู่พอสมควร ประเมินกรอบดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,530-1,663 จุดและคาดการณ์ EPS Growth ของดัชนีหุ้นไทยปีนี้ -2% จากครึ่งปีแรก -25% เพราะเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเห็นการเติบโตที่ดีกว่า โดยเฉพาะไตรมาส 4 มองกลุ่มธนาคาร, ค้าปลีก, ขนส่งและโลจิสติกส์, โรงแรม, ร้านอาหาร และอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะเห็นการเติบโตดีต่อจนถึงปี 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น