“มนพร” ปลื้มวีซ่าฟรี นักท่องเที่ยวจีนเพิ่ม บูมท่องเที่ยวทางน้ำเรือดินเนอร์เจ้าพระยาจองเต็มยาว 2 เดือน สั่งเข้มความปลอดภัย และเร่งทำเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเพิ่ม เปิดกิจกรรมวันทางทะเลโลก ประจำปี 66 ร่วมมือเอกชนลดทิ้งขยะ น้ำเสียลงทะเล
วันที่ 26 ก.ย. 2566 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานหลักภายใต้คณะอนุกรรมการจัดงานวันทางทะเลโลกที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ได้จัดกิจกรรมงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2566 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “MARPOL at 50 - Our commitment goes on” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า งานวันทางทะเลโลก จัดเป็นประจำทุกปี ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรืออนุสัญญา MARPOL ตามความมุ่งมั่นขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ลดขยะ ลดการปล่อยก๊าซ ปล่อยน้ำเสียจากเรือลงสู่ทะเล เนื่องจากปัจจุบันการคมนาคมขนส่งทางทะเล ซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะขับเคลื่อนโดยเครื่องจักรกล อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตามความต้องการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ตามมา ขณะเดียวกัน ต้องมีการปรับมาตรฐานการเดินเรือทะเลให้เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะต้องมีการออกแบบเรือที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มมีการค้าขายทางเรือและขนส่งสินค้าทางน้ำมาอย่างยาวนาน ด้วยยุทธศาสตร์ด้านภูมิศาสตร์ที่ติดทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทย ที่อาศัยการขนส่งสินค้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านทางเรือมากขึ้น ทำให้การขนส่งทางทะเลเปรียบเหมือนกระดูกสันหลัง และเป็นเส้นทางของการค้าขายระหว่างประเทศ และมีบทบาทสำคัญต่อการค้าโลก โดยมีส่วนแบ่งในการขนส่งมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ จะมีการส่งเสริมการขนส่งทางทะเล หรือทางน้ำ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีการตั้งเป้าหมายเพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าการขนส่ง เนื่องจากการขนส่งทางทะเลสามารถขนส่งได้จำนวนมากและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการ เรื่องกฎหมาย และการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อย PM 2.5 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ทุกหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย
@วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน บูมท่องเที่ยวทางน้ำ เรือดินเนอร์เจ้าพระยาจองเต็มยาว 2 เดือน
นางมนพรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายมุ่งส่งเสริมการเดินทางและขนส่งสินค้าทางน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจากนโยบาย วีซ่าฟรี ของรัฐบาลนั้นส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งปกติคนจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำอย่างมาก ซึ่งจะร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการคมนาคมท่องเที่ยวทางน้ำ โดยคาดว่าจะเริ่มที่เส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีรายงานว่าเรือภัตตาคาร หรือเรือดินเนอร์ แม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 26 ลำ มียอดจองแน่นไปถึง 2 เดือนข้างหน้าแล้ว ซึ่งได้กำชับตรวจสอบความพร้อมของท่าเทียบเรือต่างๆ การอำนวยความสะดวก มีไฟฟ้าแสงสว่าง เจ้าหน้าที่ดูแลเพียงพอ
"ตอนนี้ได้มอบหมายรองปลัดกระทรวงคมนาคมและอธิบดีกรมเจ้าท่าช่วยกันทำแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อจะได้เร่งทำโรดโชว์ให้นักท่องที่ยวจีนโดยเร็ว รวมไปถึงเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำด้วยเนื่องจากคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเน้นเรื่องปลอดภัย ตรงเวลาและประหยัด ซึ่งในสัปดาห์นี้มีแผนจะลงพื้นที่ท่าเรือท่องเที่ยวทะเลอันดามันเพื่อดูความพร้อมในส่วนของการท่องเที่ยวทางทะเลด้วย เรื่องนี้ช้าไม่ได้ จะไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไปแน่นอน" รมช.คมนาคมกล่าว
นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลงานด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลพิษทางทะเลที่เกิดจากเรือ ซึ่งในปีนี้องค์การทางทะเลระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญต่อสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลฉบับแรก ที่เรียกชื่อว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรืออนุสัญญา MARPOL และกำหนดเป็นหัวข้อการจัดงานในปีนี้ คือ “MARPOL at 50 - Our commitment goes on” ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรม เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ หรืออนุสัญญา MARPOL ที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างมากมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือ
สำหรับกิจกรรมวันทางทะเลโลกประจำปี 2566 มีการแสดงปาฐกถาโดยรองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้แทนจาก World Shipping Council ในหัวข้อ “Moving Toward Greener Shipping : GHG Reduction in Maritime Sector” มีการจัดเวทีเสวนา หัวข้อ “การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งทางน้ำ” ประกอบด้วย นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย, ผศ.ดร.อาทิตย์ ทิพย์พิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ดร.เฉลิมวุฒิ แท่นสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเอเชีย, นายอาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไปบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย, นาวาตรี เจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ นาวาเอก ปริศฎางค์ กาศขุนทด กรรมการผู้จัดการบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ประธานสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย รวมไปถึงการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลและพัฒนานวัตกรรมการขนส่งทางน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม