xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ร่างแผน ลดใช้พลังงาน ด้านขนส่งทางบก แก้ปัญหา PM2.5 และปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนข. จัดสัมมนาเพื่อนําเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษานโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบกแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วันที่ 22 ก.ย.2566 นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เพื่อนําเสนอผลการศึกษาโครงการศึกษานโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนาฯ

กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นความสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก เนื่องจากปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีการใช้พลังงานโดยรวมของประเทศ ในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 32,414 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นร้อยละ 38.5 และการขนส่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการขนส่งทางบกถือได้ว่าเป็นรูปแบบการขนส่งหลักของประเทศที่มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2565 สูงถึง 27,950 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นร้อยละ 86.2 และจากการใช้พลังงานในการขนส่ง ในปี พ.ศ. 2562 พบว่าสาขาขนส่งปล่อย CO2 อยู่ที่ 76.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 29.5 ของการปล่อย CO2 ในภาคพลังงาน โดยการขนส่งทางบก มีสัดส่วนร้อยละ 95.6 ของการปล่อย CO2 ในสาขาขนส่ง หากไม่มีการรองรับการเติบโตดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการขนส่งที่สิ้นเปลืองพลังงานและเกิดการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. จัดทำโครงการศึกษานโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและกำหนดนโยบายการลดการใช้พลังงานในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย และจัดทำแผนการดำเนินการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2580 เพื่อเป็นแผนการดำเนินงานที่ช่วยให้หน่วยงานในภาคคมนาคมและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบคมนาคมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนการดำเนินงานฯ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้น 0 – 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนระยะกลาง 6 – 10 ปี (พ.ศ. 2571 – 2575) และแผนระยะยาว 11 – 15 ปี (พ.ศ. 2576 – 2580)


ซึ่งจากการประเมินภายใต้แผนการดำเนินการฯ พบว่า
-แผนระยะสั้น ณ ปี พ.ศ. 2570 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 4,260.76 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 10.07 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)

แผนระยะกลาง ณ ปี พ.ศ. 2575 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 12,582.40 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 36.09 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)

แผนระยะยาว ณ ปี พ.ศ. 2580 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 15,918.21 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 51.86 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)


ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) จากการประเมินภายใต้แผนการดำเนินการฯ พบว่า ณ ปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 การขนส่งทางบก จะมีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานรวม 11,169.84 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 30.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)


ทั้งนี้หากหน่วยงานในภาคคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ขับเคลื่อนโครงการและมาตรการตามแผนการดำเนินการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2580 จะช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางพลังงาน และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในภาคคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร ที่เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อนําเสนอผลการศึกษาที่ได้จัดขึ้น นำไปบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมให้ข้อเสนอแนะและรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปใช้พัฒนามาตรการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการปล่อย PM2.5 ในภาคขนส่งทางบกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาเป็นผลลัพธ์ร่วมกันของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของภาครัฐใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น