ส.อ.ท.รับลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท/หน่วยในรอบบิลก.ย.-ธ.ค. 66 ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ ชมเปาะ "เศรษฐา" แก้ตรงจุด หนุนปรับโครงสร้าง Step ต่อไปแก้ค่าไฟแบบยั่งยืน แจงยิบต้นทุนพลังงานลดลงแล้วแต่ราคาสินค้าแต่ละประเภทจะทยอยปรับลดลงตามรอบสต๊อกวัตถุดิบ ขณะที่ค่าแรง 400 บาท/วันรายละเอียดยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อมั่นจะยืนอยู่บนกลไกไตรภาคี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ที่เห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เพิ่มเติมจากมติ ครม.นัดแรกเมื่อ 13 ก.ย. 66 จากอัตราเรียกเก็บ 4.10 บาท/หน่วย เหลือเป็น 3.99 บาท/หน่วยว่า แนวทางดังกล่าวถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์สำหรับภาคเอกชนเพราะก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนเองเรียกร้องการปรับลดลงจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศที่อัตรา 4.45 บาท/หน่วยให้เหลือ 4.25 บาท/หน่วย และล่าสุดทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายระยะต่อไปที่จะให้เหลือ 3 บาท/หน่วย หากดำเนินการได้จริงก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
“การลดลงครั้งแรก 4.10 บาท/หน่วยเราก็ถือว่าเซอร์ไพรส์แล้ว แต่พอลดเหลือ 3.99 บาท/หน่วยก็ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์กว่า จึงขอขอบคุณท่านนายกฯ เศรษฐาที่สมกับเป็นนักธุรกิจที่แก้ปัญหาอย่างตรงจุดเพราะการลดค่าไฟจะเป็นการลดค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนภาคธุรกิจให้ผู้ผลิตสินค้าที่จำหน่ายในประเทศแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้และการส่งออกจะเพิ่มขีดแข่งขัน ที่สำคัญคือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ขณะนี้มีการย้ายฐานการผลิตซึ่งไทยเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่นักลงทุนสนใจอยู่ ส่วนขั้นตอน (Step) ต่อไปอยากให้รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงานภาพรวมที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีความยั่งยืนไม่ใช่ต้องมาคอยแก้ไขปัญหาทีละจุดเช่นปัจจุบัน” นายเกรียงไกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนพลังงานทั้งดีเซล ค่าไฟ ปรับลดลง ในส่วนของราคาสินค้าที่จะลดลงนั้นต้องเข้าใจโครงสร้างต้นทุนการผลิตที่ต้องดูจากสต๊อกวัตถุดิบด้วย โดยสินค้าประเภทบริโภคที่เป็นอาหารสดซึ่งเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านโดยตรงที่ผ่านมาเมื่อต้นทุนเพิ่มได้มีการปรับขึ้น เช่น อาหารจากจานละ 50 บาทก็เป็นจานละ 60-70 บาท โดยอาหารเหล่านี้จะสต๊อกสินค้า 1-3 วัน เหล่านี้สามารถลดราคาลงได้ภายใน 15 วันทันที แต่สินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมจะต่างกันไป โดยหากเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศจะมีอัตราการสต๊อกวัตถุดิบเฉลี่ย 30-60 วัน กรณีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเฉลี่ยจะสต๊อกราว 90-100 วัน ดังนั้นการปรับราคาสินค้าจะเป็นไปตามรอบสต๊อกวัตถุดิบที่จะทยอยปรับลดลง
“สินค้าภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคและบริโภค บางรายการก็เป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องขออนุญาตปรับราคาขายปลีก ฯลฯ นอกจากนี้ สินค้าบางอย่างก็เป็นไปตามกลไกการแข่งขันในตลาดหากมีการแข่งขันสูงเขาก็ต้องสู้ด้วยราคาอยู่แล้ว ดังนั้นแต่ละอุตสาหกรรมก็ต่างกันไป” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นเป็น 400 บาท/วันนั้นเข้าใจว่ารัฐบาลได้ลดค่าพลังงานเพื่อลดรายจ่ายก็ต้องการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่ง แต่รายละเอียดก็ยังไม่ได้ชัดเจนเพราะทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ได้หารือทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ที่เป็นไตรภาคี รวมถึง ส.อ.ท.ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรดำเนินการภายใต้กลไกไตรภาคีซึ่งก็เห็นตรงกัน และหากขึ้นไม่ควรจะกระชากแรงจนกระทบต่อต้นทุนจนผู้ประกอบการรับไม่ไหว และเข้าใจว่า 400 บาท/วันน่าจะเป็นการปรับขึ้นบางจังหวัดและตามประเภทอาชีพบางอาชีพ