กรมพัฒนาธุรกิจการค้านำคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตติดตามผลงานโครงการ Digital Village by DBD พบกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนาสามารถสร้างยอดขายผ่านออนไลน์ได้แบบสุดปังกว่า 30% ของรายได้ โดดเด่นด้วย “ส้มควาย” สินค้าพื้นที่โชว์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีงานหัตถกรรม ขนมพื้นบ้าน การท่องเที่ยวชุมชน ที่ช่วยเพิ่มรายได้ คิวต่อไป ช่วยปั้นวิสาหกิจชุมชนบ้านบางโรง
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อติดตามผลการพัฒนา “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา” อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในปี 2564 และเข้าร่วมโครงการ Digital Village ของกรม โดยพบว่าภายหลังเข้าร่วมโครงการกลุ่มแม่บ้านฯ สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้จำนวนมากในช่องทาง Facebook และไลฟ์สดเป็นหลัก โดยยอดขายผ่านทางช่องทางออนไลน์คิดเป็น 30% ของรายได้ ซึ่งกลุ่มแม่บ้านมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์แปรรูปส้มควาย ส้มควายแช่อิ่ม ส้มควายสามรส ส้มควายแก้ว ส้มควายผงกึ่งสำเร็จรูป น้ำส้มควายพร้อมดื่ม ซึ่งส้มควายเป็นผลไม้ของดีในท้องถิ่นภูเก็ตที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะนำมาแปรรูปผลิตเป็นสมุนไพรไทยในรูปแบบต่างๆ 2. งานหัตถกรรมการเพนต์-ปักผ้าปาเต๊ะ 3. ผลิตภัณฑ์ขนมพื้นบ้าน และ 4. การท่องเที่ยวชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ยังได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ เช่น เครื่องหมายฮาลาล และ มอก. เพื่อสร้างมาตรฐานและความมั่นใจในการส่งออกด้วย
โดยจากการพูดคุยเชิงลึกได้รับทราบถึงความต้องการของกลุ่มแม่บ้านว่ามีความสนใจในการต่อยอดความรู้ในการทำตลาดออนไลน์เพิ่มเติมอย่างการทำคลิปสั้น เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ขยายตัวมากขึ้น เพราะปีนี้ผลผลิตส้มควายจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งต่อยอดการตลาดให้กว้างขึ้น โดยกรมจะสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ให้ความรู้ต่อไป
นายทศพลกล่าวว่า คณะได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่ “วิสาหกิจชุมชนบ้านบางโรง” อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้พบกับประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบางโรง เพื่อดูการดำเนินงานของชุมชนและความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ “Digital Village BCG ชุมชนออนไลน์นวัตกรรมรักษ์โลก” ในปี 2567 ต่อไป วิสาหกิจชุมชนบ้านบางโรงเป็นชุมชนเก่าแก่บนเกาะภูเก็ตที่มีความโดดเด่นด้านบริการท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมทั้งมีสินค้าชุมชนสำคัญ เช่น สบู่/โลชั่นสับปะรด ชีสทาร์ตสับปะรด น้ำพริกสับปะรด และผ้าใยสับปะรด ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันได้ทำการตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ (www.bangrongconnect.com) และเพจ Facebook ท่องเที่ยวชุมชนบางโรง ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีความพร้อมจะต่อยอดช่องทางการตลาดออนไลน์ให้เป็นมืออาชีพต่อไป
“กรมได้ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนอย่างต่อเนื่อง ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้าสู่ e-Commerce ผ่านโครงการ Digital Village by DBD เป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้เกิดชุมชนออนไลน์ต้นแบบแล้วถึง 76 ชุมชน จาก 50 จังหวัด โดยโครงการช่วยเพิ่มมูลค่าการตลาดออนไลน์ให้กับชุมชน ประกอบกับพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านทางตลาดออนไลน์ยุคใหม่ มากไปกว่านั้น ยังสร้างศักยภาพด้านการค้าออนไลน์ให้พร้อมเป็นชุมชนต้นแบบความสำเร็จแก่ชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทย หลังจากนี้กรมฯ มีแผนจะส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนให้มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมรักษ์โลก หรือ Green Innovation ซึ่งขานรับกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยและสอดคล้องกับเทรนด์การค้าโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมภาพลักษณ์ และยกระดับรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” นายทศพลกล่าว
ทั้งนี้ กรมยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนใช้ Soft Power ดึงศักยภาพจากอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับการทำการตลาดออนไลน์ สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ รวมไปถึงบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มชั้นนำ เช่น Facebook, Line Shopping, TikTok Shop, และ Lazada เพื่อที่จะให้สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมากขึ้น