xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เปิดตัว”ระบบจอดรถอัจฉริยะ”ลานจอด MRT สายสีน้ำเงิน 10 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม. เปิดโครงการติดตั้งระบบจอดรถและปรับปรุงภูมิทัศน์ลานจอดรถ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) จำนวน 10 แห่ง ภายใต้แนวความคิด “Smart Parking Smart Life”ให้บริการจอดรถอัจฉริยะ

วันที่ 15 ก.ย. 2566 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการติดตั้งระบบจอดรถและปรับปรุงภูมิทัศน์ ลานจอดรถ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประจำปีงบประมาณ 2565 – 2566 ภายใต้ชื่องาน “Smart parking Smart life” โดยมี นางสาวจิรนันท์ วรจักร ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. ผู้บริหาร รฟม. และ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน ณ สามย่านมิตรทาวน์ ห้อง THE MITR – TING ROOM ชั้น 5

โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการลานจอดรถ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ ลานจอดรถสถานีรัชดาภิเษก ลานจอดรถสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ลาน1) ลานจอดรถสถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ซอยรัชดาภิเษก 6) ลานจอดรถสถานีพระราม 9 ลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ลานจอดรถสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ฝั่งตรงข้ามศูนย์การประชุมฯ) ลานจอดรถสถานีห้วยขวาง ลานจอดรถสถานีเพชรบุรี ลานจอดรถสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และลานจอดรถสถานีสามย่าน


โดย รฟม. ได้นำระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัจฉริยะ หรือ “MRTA Smart Parking” เข้ามาติดตั้ง โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการเช่น การเข้า-ออก การบันทึกส่วนลด และการเพิ่มช่องทางการชำระค่าบริการ รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน MRTA Parking เพื่อรองรับการใช้งาน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการในการเข้าถึงลานจอดรถได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย


นอกจากนี้ ภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวยังมีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานจอดรถและปรับปรุงภูมิทัศน์ลานจอดรถเพิ่มเติมจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ลานจอดรถสถานีห้วยขวาง ลานจอดรถสถานีเพชรบุรี ลานจอดรถสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และลานจอดรถสถานีสามย่าน พร้อมทั้งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ตามแนวคิด “Smart Parking Smart Life” และการพัฒนาพื้นที่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าควบคู่กับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้บริการวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป


ทั้งนี้ รฟม. ได้เปิดให้บริการที่จอดรถที่สถานีรถไฟฟ้า จำนวน 13 แห่ง ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และที่จอดรถ 4 แห่ง ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยมีนโยบายในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการ และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสามารถช่วยสร้างประโยชน์ในระดับชุมชน สังคมและระดับประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น