xs
xsm
sm
md
lg

คึกคัก! บิ๊กเนมแห่ซื้อซองประมูลพักริมทาง "มอเตอร์เวย์" กลุ่ม ปตท.-BTS-BEM-บางจาก-กัลฟ์ฯ ร่วมชิงพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยบิ๊กเนม-ยักษ์ค้าปลีกแห่ซื้อซอง ชิงสัญญาร่วมลงทุนพัฒนาและบริหารที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์ M7 "ศรีราชา, บางละมุง" 2 โครงการมูลค่ารวมกว่า 5.8 พันล้านบาท "กลุ่ม ปตท.-BTS-BEM-บางจาก-กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์" ปิดขาย RFP 22 ก.ย.นี้ คาดมีซื้อซองเพิ่ม

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่กรมทางหลวงได้เปิดประกวดราคาโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง โดยจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ร่วมลงทุน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม จนถึง 22 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. นั้น

ล่าสุด ณ วันที่ 13 ก.ย. 2566 ปรากฏว่าโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชามีเอกชนสนใจซื้อซองเอกสาร RFP แล้วจำนวน 5 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ซึ่งเป็นบริษัทลูก บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR) 2. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 4. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (บริษัทในเครือของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF) 5. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP

ส่วนโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง มีเอกชนสนใจซื้อซองเอกสาร RFP แล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) 2. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด 3. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP

โดยกรมทางหลวงกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอช่วงปลายเดือน พ.ย. 2566 และคาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนแล้วเสร็จในต้นปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาและเริ่มต้นก่อสร้างช่วงกลางปี 2567 เพื่อเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ต่อไป


สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยกรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างที่พักริมทางและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษาโครงการฯ ตลอดจนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ของโครงการฯ โดยต้องชำระค่าตอบแทนให้กรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายในระยะเวลาดำเนินโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นงาน 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง เอกชนมีหน้าที่จัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างองค์ประกอบและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงการบริหารจัดการโครงการฯ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี

สำหรับศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (Sriracha Service Center) เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ บริเวณ กม.93+500 อยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม ขนาดพื้นที่ฝั่งไปพัทยา 62 ไร่ ฝั่งไปชลบุรี 59 ไร่ มูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 1,100 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี ประมาณ 2,000 ล้านบาท ประเมินว่า ทล.จะได้ผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ 24 ล้านบาท และปรับเพิ่มทุกๆ 3 ปี

ส่วนสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (Bang Lamung Service Area) เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง บริเวณ กม.137+100 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่กับทางแยกต่างระดับเขาชีโอน ขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 39 ไร่ มีมูลค่าลงทุนก่อสร้างประมาณ 786 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยคาดว่า ทล.จะได้ผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ 6 ล้านบาท และปรับเพิ่มทุกๆ 3 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น