xs
xsm
sm
md
lg

"สนพ." คาดราคาน้ำมัน Q4 ขยับสูง การใช้ปี 66 ลดลงตาม ศก.แต่ยังโต 2.1% หวังมาตรการรัฐหนุนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สนพ." คาดแนวโน้มราคาน้ำมันครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 4 มีแนวโน้มขยับสูง ทบทวนตัวเลขการใช้พลังงานภาพรวมใหม่ให้สอดรับ ศก.ที่ชะลอตัวคาดทั้งปีโตเหลือ 2.1% รับการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณปลายปีนี้ไม่ถึง 600 ล้าน ลบ.ฟ./วันต้องนำเข้า LNG บางส่วน พร้อมเร่งรับมือภัยแล้งอาจดันต้นทุนนำเข้าไฟ สปป.ลาวพุ่ง-พีกทำสถิติสูงสุดช่วงกลางคืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
เปิดเผยว่า คาดการณ์ราคาน้ำมันครึ่งปีหลังน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบนซินเฉลี่ย 69-105 เหรียญ/บาร์เรล และดีเซล 91-98 เหรียญ/บาร์เรล โดยทิศทางในไตรมาส 4 มีสัญญาณในการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก และยังมีปัจจัยจากซาอุดีอาระเบียที่จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลก

"ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เอทานอลในช่วงไตรมาส 4 ภาพรวมคาดว่าจะสูงขึ้น ยกเว้นในส่วนของไบโอดีเซล (B100) ที่มีทิศทางลดลงจากตลาดโลกมีความเข้มงวดในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม" นายวัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566 สนพ.ได้ปรับคาดการณ์ใหม่ให้สอดรับกับสมมติฐานต่างๆ ที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไทย จากเดิมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้จากเดิม ณ 21 พ.ย. 65 จะเติบโต 3-4% เป็น ณวันที่ 21 ส.ค. 66 โตเหลือ 2.5-3% รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันดิบและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นปี 2566 จะอยู่ที่ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเพิ่มขึ้น 2.1% จากปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ ก.พ. 66 ที่ 2,047 พันบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน


"การใช้พลังงานภาพรวมทั้งปีอาจเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มสูงขึ้นอีกหากนโยบายรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่ม และรวมถึงราคาเองก็เป็นปัจจัยการใช้ที่เพิ่มและลดเช่นกัน แต่ในแง่ของการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ทั้งปีจะลดลง 5.4% เพราะราคาแพงทำให้การใช้ลดลง ขณะที่ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าปีนี้ก็จะลดลง 13.7% เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบปริมาณน้ำในเขื่อนจาก สปป.ลาวทำให้สนพ.กำลังหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะกังวลเรื่องต้นทุนที่อาจสูงขึ้นที่จะต้องปรับมาใช้เชื้อเพลิงอื่นแทน ซึ่ง กฟผ.จะดูอีกที" นายวัฒนพงษ์กล่าว

ก๊าซฯ G1 ปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้า จ่อนำเข้า LNG แทน

การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 66) ของไทยอยู่ที่ 678 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ลดลง 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยหลักคือแหล่งน้ำมันดิบทานตะวันที่ลดลงถึง 30% และแหล่งก๊าซเอราวัณ (G1/61) ที่การผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจากการหารือร่วมกับ บมจ.ปตท. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่วางเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 600 ล้าน ลบ.ฟ./วันในสิ้นปีคงจะอยู่ที่เพียง 400 ล้าน ลบ.ฟ./วันแต่ภายใน เม.ย. 67 จะเป็น 800 ล้านลบ.ฟ./วันค่อนข้างแน่นอน ดังนั้นปลายปีที่ไม่เป็นไปตามแผนต้องนำเข้า LNG เข้ามาแต่ปริมาณเท่าใดคงจะต้องดูว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะไปเร่งการผลิตในแหล่งอื่นๆ มาเสริมได้มากน้อยเพียงใดด้วย

พีกไฟ 6 พ.ค. 66 ทำสถิติสูงสุดช่วงกลางคืน

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในระบบ 3 การไฟฟ้า พบว่าเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 66 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ 34,827 เมกะวัตต์ (MW) เป็นสถิติสูงสุดของพีกที่เกิดขึ้นช่วงกลางคืนที่ขณะนี้มีมากขึ้นต่างจากอดีตเพราะการเข้ามาของพลังงานทดแทนเช่น โซลาร์ ลม ที่มีการผลิตในช่วงกลางวันเป็นหลัก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของการส่งเสริมพลังงานที่ควบคู่ไปกับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ซึ่ง กฟผ.ได้วางแนวทางการพัฒนากักเก็บในรูปของก๊าซไฮโดรเจนที่ลำตะคองและจะขยายไปยังที่อื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น