กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือภาครัฐและเอกชน จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป วันที่ 5 ก.ย.นี้ ก่อนนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปหารือกับอียูเรื่องเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทย ช่วงปลาย ก.ย.ต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำหนดจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 5 ก.ย.2566 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดยในการสัมมนาครั้งนี้ กรมได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผู้แทนกรมจะนำเสนอข้อมูลสถานะล่าสุดของมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ จะนำเสนอเรื่องแนวทางการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะนำเสนอเรื่องกระบวนการทวนสอบ (verification) และการรับรอง (accreditation) การปล่อยก๊าซฯ
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ พิฆเนศวร รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model และนายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการรับมือในมาตรการดังกล่าวของไทย
“กรม อบก. และ ส.อ.ท. มีแผนจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อจัดทำแผนการทำงานต่อไป โดยเฉพาะการหารือกับสหภาพยุโรป เรื่องเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ในช่วงปลายเดือนก.ย.2566 โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาผ่านทางออนไลน์ และร่วมแสดงความเห็นได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ออกประกาศเตรียมใช้มาตรการ CBAM กับ 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยในวันที่ 1 ต.ค.2566–31 ธ.ค.2568 กำหนดให้ผู้ที่นำสินค้า 6 กลุ่มเข้ามาในสหภาพยุโรป จะต้องแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯ