กรมรางหมดลุ้น พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ หลังตั้งรัฐบาลใหม่ช้า หลุดไทม์ไลน์ 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ ต้องกลับไปเริ่มต้นเสนอใหม่ คาดใช้เวลาอีก 1 ปี จากเดิมตั้งเป้าประกาศใช้สิ้นปี 66 แต่ยังเดินหน้าศึกษากฎหมายลูก ล่าสุดสรุปเกณฑ์ออกใบอนุญาต "คนขับ-ผู้ประกอบการ" แล้ว
วันที่ 28 ส.ค. 2566 กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดงานสัมมนาโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการจัดทำใบอนุญาตการขนส่งทางราง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า โครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) นั้นจะเป็นกฎหมายลูกของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ที่กรมรางได้ศึกษาเตรียมความพร้อมในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการระบบรางมากยิ่งขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ว่าผู้ประกอบการมีศักยภาพในการดำเนินการ บุคลากรของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางมีคุณลักษณะและความรู้เหมาะสมต่อการเป็นผู้ประจำหน้าที่ และรถขนส่งทางรางมีสภาพพร้อมที่จะให้บริการขนส่งทางราง
ทั้งนี้ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....นั้น ก่อนหน้านี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 แล้ว แต่มีการยุบสภาไปก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นระบุว่า พ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ จากรัฐบาลเดิม สามารถส่งร่างเสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการในวาระต่อไปได้ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร้องขอไปที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 60 วันนับจากวันที่ประชุมรัฐสภานัดแรก เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 ซึ่งจะครบ 60 วันในวันที่ 2 ก.ย. 2566 เท่ากับไม่ทันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น กรมรางจะต้องนำร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ กลับไปเริ่มต้นขั้นตอนใหม่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี จากเดิมที่คาดว่าหากเสนอ ครม.ชุดใหม่ได้ภายใน 60 วัน คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ จะมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปี 2566
ตามขั้นตอนคือ ต้องนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาใหม่ โดยกรมรางจะยืนยันหลักการตามร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ เดิมไม่มีการปรับแก้ไขใดๆ หลัง ครม.เห็นชอบจะส่งไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ จากนั้นส่งกลับ ครม. และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 และวาระ 2 วาระ 3 จากนั้นจึงประกาศมีผลบังคับใช้
“แม้จะต้องกลับไปเริ่มต้นนำเสนอใหม่แต่คาดว่าจะไม่ยุ่งยากมาก เพราะเป็นกฎหมายเดิมที่เคยผ่านการพิจารณาแล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเป็นกฎหมาย 1 ในกฎหมายจำนวน 83 ฉบับ ที่ตกค้างการพิจารณาจากรัฐบาลชุดก่อน อย่างไรก็ตาม กรมรางได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดของกฎหมายลูกจำนวน 82 ฉบับ ที่เตรียมประกาศใช้ภายหลังร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้”
@สรุปเกณฑ์ วางระบบ ออกใบอนุญาต "คนขับ-ผู้ประกอบการ"
นายพิเชฐกล่าวว่า ปัจจุบันมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟและรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการด้านระบบรางเพิ่มมากขึ้น การกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง เพื่อกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการทุกรายมีมาตรฐานเดียวกัน และตรวจสอบได้ โดยจากข้อมูล ประเทศไทยมีผู้ประกอบกิจการของรัฐ ผู้รับสัมปทานหรือสัญญาจำนวน 8 ราย มีพนักงานขับรถไฟ/รถไฟฟ้า ประมาณ 2,236 คน (รฟท. 1,258 คน, บีทีเอส 460 คน, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ 49 คน, BEM 350 คน, สายสีแดง 119 คน) มีรถขนส่งทางรางประมาณ 10,266 คัน ซึ่งตัวเลขจำนวนพนักงานขับและตัวรถนั้นไม่เพียงพอต่อการให้บริการในปัจจุบัน และในอนาคตจะยิ่งต้องการมากขึ้นอีก เพราะจะมีประชาชนมาใช้บริการมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มรถขนส่งทางรางและบุคลากร แต่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการออกใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดมาตรฐานเบื้องต้นในระบบราง
สำหรับระบบฐานข้อมูล e-License R จะทำให้กรมสามารถรวบรวมฐานข้อมูลผู้ที่มีศักยภาพบุคลากร รถที่มีมาตรฐาน ทั้งปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักเกณฑ์ซึ่งขณะนี้ออกแบบระบบเสร็จแล้ว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการป้อนข้อมูลและยืนยันตัวตน ในระบบ โดยผู้ประกอบการยังกังวลเรื่อง ขอมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้ยืนยันมาตรการระบบป้องกันและกฎหมายที่จะดูแลคุ้มครอง
โดยรถไฟ และรถไฟฟ้า กำหนดเกณฑ์ออกใบอนุญาต เจ้าหน้าที่ขับรถไฟ, เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ OCC ได้แก่ อายุขั้นต่ำ 20 ปี ต้องผ่านการฝึกอบรมทดสอบข้อเขียนก่อน อายุใบอนุญาต 5 ปี ต่อทุก 5 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 2,000 บาท, ผู้ประกอบกิจการเดินรถ/ขนส่ง อายุใบอนุญาต 30 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 150,000-300,000 บาท, รถขนส่งทางราง/ทะเบียนรถ ตรวจสอบทุก 8 ปี อัตราค่าธรรมเนียม 1,000 บาท