xs
xsm
sm
md
lg

ยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือนแรกวูบ 5.54% ส.อ.ท.หวังรัฐบาลใหม่กระตุ้น ศก.ปลายปีหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เผยการผลิตรถยนต์ 7 เดือนแรกปีนี้โตแค่ 0.66% ผลกระทบหลักจากยอดขายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องและ 7 เดือนแรกลด 5.54% จากสถาบันการเงินคุมเข้มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เหตุหนี้ครัวเรือนพุ่ง หวั่นเป้าผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอาจไม่ถึง 8.5 แสนคันแต่ลุ้นรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น ศก.ปลายปีหนุน ขณะที่การส่งออก 7 เดือนโต 15.55% มั่นใจเป็นไปตามเป้า

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ 149,709 คัน เพิ่มขึ้นจาก ก.ค. 65 คิดเป็น 4.72% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมการผลิต 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 66) อยู่ที่ 1,071,221 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.66% ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่ไม่สูงนักเนื่องจากการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศยังคงไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เพราะสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น

“เมื่อเร็วๆ นี้เราได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลง 50,000 คันจากเดิมวางเป้าหมายการผลิตรวมอยู่ที่ 1,950,000 คันเป็นผลิตรวม 1,900,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกคงเดิม 1,050,000 คัน แต่ลดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลงเป็น 850,000 คันจากเดิม 900,000 คัน ซึ่งจะลดลงอีกหรือไม่คงต้องติดตามยอดขาย EV และปัญหาหนี้เสียในรถยนต์ที่จะทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยกู้เพิ่ม แต่เราเองก็หวังว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่จะมาฟื้นยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน” นายสุรพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ การผลิตเพื่อส่งออกเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ 86,552 คัน เพิ่มขึ้น 9.48% จาก ก.ค. 65 ส่วน 7 เดือนแรกผลิตเพื่อส่งออกได้ 617,207 คัน คิดเป็น 57.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.72% โดยการผลิตเพื่อการส่งออกคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้ ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ก.ค. 66 ผลิตได้ 63,157 คัน ลดลงจาก ก.ค. 65 คิดเป็น 1.16% และ 7 เดือนแรก ผลิตได้ 454,014 คัน เท่ากับ 42.38% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 11.28%

สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศ ก.ค. 66 มีทั้งสิ้น 58,419 คัน ลดลงจาก ก.ค. 65 คิดเป็น 8.77% ลดลงจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะบรรทุกจากหนี้ครัวเรือนของประเทศที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้อำนาจซื้อลดลง รวมทั้งการส่งออกของสินค้าหลายอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันทำให้ลดการทำงานล่วงเวลาลง รายได้ของคนทำงานลดลง เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดย 7 เดือนแรกปีนี้รถยนต์มียอดขาย 464,550 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.45% แบ่งเป็น รถยนต์สันดาปภายใน (ICE) 381,453 คัน ลดลง 15.78% รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 35,781 คัน เพิ่มขึ้น 1,605.48% รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) 1,454 คัน เพิ่มขึ้น 39.54% รถยนต์ไฟฟ้าผสม (HEV) 45,862 คัน เพิ่มขึ้น 30.02%


ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ก.ค. 66 อยู่ที่ 108,052 คัน เพิ่มขึ้นจาก ก.ค. 65 คิดเป็น 30.05% เพราะประเทศคู่ค้ายังนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโต จึงส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง ส่งผลให้ 7 เดือนแรกปีนี้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 636,868 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.55% มีมูลค่าการส่งออก 396,769.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.52% และรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ 7 เดือนแรกมีมูลค่า 533,383.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.13%


“การที่เราได้รัฐบาลใหม่ แล้วทุกพรรคเองก็ได้เคยหาเสียงที่จะลดรายจ่ายประชาชนทั้งค่าไฟ ค่าโดยสารการเดินทาง ฯลฯ ก็อยากให้รัฐบาลดูแลค่าครองชีพ ราคาอาหารแพงขึ้นแล้วไม่ลง ดึงการลงทุนให้ยังคงเชื่อมั่นว่าจะสร้างการเติบโตโดยส่งเสริมให้ต่อเนื่องเพื่อการจ้างงานอะไรที่ต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ก็ต้องการให้นำกลับมาอนุมัติด่วนเพราะ EV3.0 จะสิ้นสุด ธ.ค.นี้แล้วเพื่อให้การผลิตรถ EV ในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนต่างๆ และก้าวสู่ฮับในภูมิภาคอาเซียน จะได้ต่อยอดรถ ICE เพื่อไม่ให้การส่งออกของเราลดลงในอนาคต” นายสุรพงษ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น