xs
xsm
sm
md
lg

THG ลุย Digital Health Tech รุก “เมียนมา-เวียดนาม” เต็มสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - THG โชว์ผลงานครึ่งแรกปี 66 รายได้รวมทะลุ 5,023 ล้าน กำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เร่งเครื่องลงทุนเทคโนโลยีหวังเจาะตลาดให้ครบทุกกลุ่ม ทั้ง B2B - B2C - B2G มั่นใจครึ่งปีหลังสัญญาณบวก พร้อมสยายปีกรุกต่างประเทศเต็มสูบ ชี้เมียนมาเริ่มติดลมบน ลุยปูพรมตลาดเวลเนสเวียดนาม


นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต” (Lifetime Health Guardian For All) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ธุรกิจ THG ยังคืบหน้าในทิศทางที่ดีพร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มตามกลยุทธ์ที่วางไว้ นั่นคือ รุกตลาดด้วย Digital Health Tech และเร่งสร้าง Synergy กับ รพ.เครือข่ายและสตาร์ทอัพ พัฒนาบริการตอบโจทย์ 3 กลุ่มลูกค้าสำคัญ คือ 1. กลุ่ม B2C และ 2. กลุ่ม B2B ที่ดำเนินการผ่านบริษัทต่างๆ ในเครือ เริ่มจาก “บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด” ที่พัฒนาหลายโปรเจกต์ๅๅสำคัญด้านดิจิทัล ล่าสุดคือ แอปพลิเคชัน Prompt Care ให้บริการสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่นัดหมายและให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทางกว่า 20 สาขา แนะนำการใช้ยาและเวชภัณฑ์พร้อมจัดส่ง เคลมประกัน การจัดเก็บเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ฯลฯ

นอกจากนี้ THG ยังขยายบริการคลินิกสุขภาพเข้าไปในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ภายใต้ชื่อ “พรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก” โดยการดูแลของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่จะเริ่มเห็นรายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป ขณะที่โครงการดูแลผู้สูงอายุ ธนบุรี เฮลท์วิลเลจ ประชาอุทิศ ก็ได้เซ็นเป็นคู่สัญญาประกันสุขภาพผู้สูงอายุกับทางเมืองไทยประกันชีวิตเพื่อขยายฐานลูกค้าด้วย


ด้านกลุ่ม B2G ก็มี “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” ที่รับบริหารศูนย์หัวใจ 3 แห่ง และรับบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต ล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาก็ได้ขยายจำนวนเตียงผู้ป่วยโรคหัวใจมากขึ้นกว่าเท่าตัว และยังคงมองโอกาสสนับสนุนด้านการดูแลโรคเฉพาะทางอื่นๆ อาทิ โรคไต ร่วมกับภาครัฐในอนาคต ส่วน Horizon Rehab Center ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีภาวะเสพติดทุกประเภทที่ดำเนินการโดย “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ก็มีชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาบำบัดรักษาต่อเนื่อง

“THG เชื่อว่าทิศทางธุรกิจเฮลท์แคร์ครึ่งปีหลังปี 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเริ่มกลับมาเติบโตเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยนับจากไตรมาส 3 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน อันเป็นผลจากการเข้ามารับการรักษาของกลุ่มผู้ป่วยโรคตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคในเด็กเล็ก ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ซึ่ง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลาย รพ.เครือ THG เริ่มเห็นสัญญาณบวก โดยเฉพาะ รพ.ในส่วนภูมิภาคที่มีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามารับการรักษาจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว ก็เดินทางเข้ามารับการรักษาเกือบเต็มอัตราปกติ คาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องจนถึงปลายปี นอกจากนี้ THG ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อยอดขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าใน 3 ตลาดเป้าหมายนี้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการประกาศแผนลงทุนที่ชัดเจนภายในไตรมาส 4 ปีนี้” นพ.ธนาธิปกล่าว


สำหรับ ตลาดต่างประเทศ เตรียมขยายบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในเมียนมา หลังจากโรงพยาบาล Ar Yu International ติดตลาดได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าเป็น รพ.ระดับท็อปในเมียนมา และทำกำไรให้ THG ต่อเนื่อง ส่วน เวียดนาม ที่มีการลงทุนศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในโฮจิมินห์ก็คืบหน้าไปมากแล้ว และยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มในอีก 2 เมือง ได้แก่ ดานัง และโฮทรัม โดยคาดว่าเวียดนามจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญในอนาคตของ THG เช่นเดียวกับเมียนมา

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 ของ THG มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,515 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 152 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์และรายได้โรงพยาบาลธนบุรี ตรัง สามารถเติบโตชดเชยกับรายได้โควิด-19 ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นกว่าฐานปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 ของ THG สามารถทำรายได้รวมอยู่ที่ 5,023 ล้านบาท กำไรสุทธิงวด 6 เดือน อยู่ที่ 402 ล้านบาท ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายที่วางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น