บีโอไอเผยผลสำเร็จดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ยานยนต์ไฟฟ้าจีนลงทุนไทย ล่าสุดรัฐบาลจีนอนุมัติ “ฉางอัน ออโตโมบิล” หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับแนวหน้าของจีน ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน พร้อมเดินเครื่องเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท ปักหมุดไทยฐานผลิตหลักป้อนตลาดอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่นๆ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนมหานครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเข้าพบกับนาย Zhu Huarong ประธานกรรมการ และคณะผู้บริหาร บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด (Changan Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน ล่าสุดรัฐบาลจีนเห็นชอบให้บริษัทฯ ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว โดยมีการลงทุนในเฟสแรกมูลค่ากว่า 8,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) กำลังการผลิตในระยะแรก 1 แสนคันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน รวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แอฟริกาใต้ และตลาดอื่นๆ
ทั้งนี้ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็น 1 ใน 4 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว มีสำนักงานใหญ่ และฐานการผลิตหลักอยู่ที่มหานครฉงชิ่ง อีกทั้งได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัทฟอร์ด และมาสด้า ผลิตรถยนต์ในจีนด้วย สำหรับแผนการลงทุนในประเทศไทยนั้น บริษัทเริ่มศึกษาข้อมูลการลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2563 พร้อมหารือร่วมกับสำนักงานบีโอไอ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และสำนักงานใหญ่อย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกประกอบการวางแผนการลงทุน และหารือมาตรการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ
“การที่บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด เลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยบีโอไอได้เดินทางไปพบประธานกรรมการบริษัทฯ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บีโอไอได้นำเสนอภาพการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มาตรการสนับสนุนล่าสุด รวมทั้งให้ความมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในไทยช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงการพัฒนารถยนต์ในไทยในอนาคต เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต” นายนฤตม์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บีโอไอจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดึงผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายอื่นๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 23 โครงการ จาก 16 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 75,000 ล้านบาท