ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ มิ.ย. 66 มูลค่า 737.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 31.19% ฟื้นตัวดีขึ้น 2 เดือนติด หากรวมทองคำมีมูลค่า 929.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 17.34% รวม 6 เดือน ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 9.01% รวมทองคำ ลด 15.52% คาดส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อ แต่ได้แรงหนุนจากภาคบริการและท่องเที่ยวฟื้น แนะรักษาลูกค้าเดิม เสนอขายสินค้าให้ทันเทรนด์ตลาด
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนมิ.ย. 2566 มีมูลค่า 737.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.19% กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หากรวมทองคำมีมูลค่า 929.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 17.34% และรวม 6 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกไม่รวมทองคำมีมูลค่า 4,198.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.01% และรวมทองคำ มูลค่า 7,361.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.52%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกงเพิ่ม 184.47% ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.05% อิตาลี เพิ่ม 47.27% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 22.50% สิงคโปร์ เพิ่ม 73.94% ส่วนสหรัฐฯ ลดลง 8.99% เยอรมนี ลด 17.52% สหราชอาณาจักร ลด 16.17% สวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 2.78% อินเดีย ลด 64.86%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญก็มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 32.98% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 28.01% พลอยก้อน เพิ่ม 24.57% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 102.66% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 148.93% ส่วนเพชรก้อน ลด 6.52% เพชรเจียระไน ลด 30.51% เครื่องประดับเงิน ลด 17.04% เครื่องประดับเทียม ลด 14.15% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 21.33% และทองคำ ลด 34.95%
นายสุเมธกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีหลังยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวจากการที่ภาวะเงินเฟ้อยังลดลงน้อยกว่าที่คาด และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกขาดแรงหนุนที่สำคัญ โดยเศรษฐกิจของสมาชิก G7 อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี มีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงิน แรงกดดันของเงินเฟ้อ และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น จึงเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบการผลิต การลงทุน และการบริโภค ซึ่งรายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า การเติบโตของ GDP กลุ่มประเทศ G7 จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.1% ในปีนี้ และ 2.2% ในปี 2567 จากที่เคยเติบโต 2.7% ในปี 2565 ขณะที่การฟื้นตัวของจีนและญี่ปุ่นยังเป็นไปในทิศทางค่อยเป็นค่อยไป ยังสร้างแรงส่งไปยังเศรษฐกิจนานาประเทศได้ไม่มากนัก ส่วนปัจจัยบวกอื่นๆ มีแรงหนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักมากขึ้นในปีนี้
“จากภาพรวมการบริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลกที่มีแรงฉุดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่แม้จะชะลอตัวลง แต่ก็ยังไม่ลดลงดีนัก ผู้ประกอบการไทยควรเน้นให้ความสำคัญต่อการรักษาลูกค้าเดิมที่มีอยู่ สร้างสัมพันธภาพและการนำเสนอสินค้าใหม่ เพื่อรักษาฐานเดิมไว้ รวมทั้งการวางแผนกลยุทธ์การขายให้สอดคล้องกับเทรนด์ตลาด ฤดูกาล และพฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยการอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ รวมทั้งการลงทุนในการฝึกอบรมทั้งการเพิ่มเติมทักษะ Upskill และเปลี่ยนทักษะ Reskill ของบุคลากร โดยเฉพาะความรู้ในด้านที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร จะเป็นการติดอาวุธให้ภาคธุรกิจยืนหยัดและต่อยอดไปข้างหน้าได้” นายสุเมธกล่าว