กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยการค้าไทยกับสมาชิก RCEP 5 เดือน ปี 66 มีสัดส่วนถึง 55.48% ของการค้าไทยกับโลก ตลาดสำคัญอาเซียน จีน และญี่ปุ่น กลุ่มสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ขยายตัวได้ดี ทั้งผลไม้ ข้าว ไก่ กุ้ง น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋อง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัว แต่รถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางยังคงเพิ่มขึ้น แนะอย่าลืมใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อในการส่งออก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโลก มีสัดส่วนการค้ามากกว่า 50% และประเทศสมาชิก RCEP ถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของไทย ทั้งการนำเข้าและการส่งออก โดยในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP คิดเป็นสัดส่วน 55.48% ของการค้ารวมระหว่างไทยกับตลาดโลก และไทยส่งออกไปตลาด RCEP คิดเป็นสัดส่วน 51.73% ของการส่งออกของไทยไปตลาดโลก ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น
การส่งออกไปตลาด RCEP ในช่วง 5 เดือน พบว่ากลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 24% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 59% ข้าว เพิ่ม 63% และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 27% กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 25% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 10% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 23% ไอศกรีม เพิ่ม 24% และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 2% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม แม้ภาพรวมจะหดตัว แต่สินค้าส่งออก 2 อันดับแรกยังคงขยายตัวได้ดี คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 8% และผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 5%
ทั้งนี้ หากเจาะเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด มีสัดส่วน 71% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดไปตลาด RCEP มังคุดสด สัดส่วน 8% ลำไยสด สัดส่วน 5% ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง สัดส่วน 5% และมะม่วงสด สัดส่วน 2% โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน และมาเลเซีย
ในช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) มีการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP มูลค่า 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 107% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และออสเตรเลีย มากที่สุด และรายการสินค้าที่ขอใช้สิทธิ RCEP สูงสุด เช่น น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป น้ำอัดลม มันสำปะหลัง หัวเทียน รถจักรยานยนต์ และทุเรียนสด
“ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ รวมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ความตกลงฯ ได้ที่ www.dtn.go.th และข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ต่าง ๆ ได้ที่ www.thailandntr.com ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Mobile Application สำหรับค้นหาข้อมูล เช่น อัตราภาษี และข่าวสารการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น” นางอรมนกล่าว