กรมทางหลวงลุยศึกษาแผน MR-MAP 10 เส้นทาง กว่า 6,000 กม.ทั่ว ปท. พัฒนา "มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ" คาดใช้เขตทางร่วม 3,543 กม.ลดค่าเวนคืนกว่า 2 แสนล้านบาท นำร่อง 9 โครงการ ค่าลงทุน 4.57 แสนล้านบาท
วันที่ 24 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานการประชุมสรุป (ร่าง) แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ภายใต้การศึกษา MR-MAP ซึ่งกรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแต้นส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) ทำการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2564 วงเงิน 55 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง กำหนดส่งผลการศึกษาปลายปี 2566 นี้ จากนั้นจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโครงการตามผลศึกษาต่อไป
นายปิยพงษ์กล่าวว่า การศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เป็นการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ปี 2559 บูรณาการกับแผนพัฒนาระบบราง โดยวางแผนการพัฒนาพร้อมกันแต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละโครงการ
ทั้งนี้ การศึกษา และวางแผนโครงการพร้อมกันจะทำให้ใช้เขตทางที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์และรถไฟ, ลดการเวนคืนพื้นที่และการแบ่งแยกชุมชน, พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่, ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย, เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ซึ่งการวางแผน และก่อสร้างมอเตอร์เวย์ควบคู่กับทางรถไฟไปด้วยกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการจราจรและขนส่งสูงสุด และเชื่อมโยงโครงข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน
การศึกษาเบื้องต้น แผนแม่บท MR-MAP มี 10 เส้นทาง (แนวเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก, เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีระยะทางรวมประมาณ 6,877 กม. (มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) และมีแผนพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง 3,543 กม. ประเมินว่าจะลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ และลดค่าเวนคืนได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท
@นำร่อง "มอเตอร์เวย์" 9 โครงการ 4.5 แสนล้าน พัฒนาใน 5 ปีแรก
สำหรับแผนพัฒนา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ดำเนินการระยะ 5 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2566-2570 จำนวน 9 โครงการ ระยะทางรวม 391 กม. มูลค่า 457,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 2. โครงการบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 3. โครงการบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.10 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 4. ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯ รอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทาง 4.20 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71
5. เส้นทางนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61.02 กม. ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 72, 6. เส้นทางสงขลา-สะเดา ระยะทาง 69 กม. กำหนดก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 74, 7. ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 19 กม. ก่อสร้างปี 67 เปิดให้บริการปี 70, 8. เส้นทางวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. ก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73 และ 9. เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กม. ก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73
แผนงานระยะกลาง ดำเนินการระยะ 10 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2571-2575 จำนวน 5 โครงการ ระยะทาง 397 กม. มูลค่า 413,200 ล้านบาท ได้แก่ 1. นครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 70.22 กม. 2. แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ระยะทาง 156 กม 3. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.32 -ทล.305 ระยะทาง 67.81 กม. 4. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ช่วง ทล.35-ทล.35 ระยะทาง 79.07 กม. 5. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วง ทล.35-นครปฐม ระยะทาง 24.26 กม.
และแผนระยะยาวดำเนินการระยะ 11-20 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2576-2585 จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 1,138 กม. มูลค่า 775,900 ล้านบาท โดยแผนภาพรวมมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ (EIRR) 13.77%
ส่วนแผนพัฒนาระบบราง ประกอบด้วยรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง โดยกำหนดแผนพัฒนา 3 ระยะ คือ ระยะ5 ปี (2566-2570) ระยะทางรวม 2,048 กม. มูลค่าลงทุน 601,500 ล้านบาท, ระยะ 10 ปี (2571-2575) ระยะทางรวม 958 กม. มูลค่าลงทุน 560,600 ล้านบาท, ระยะ 20 ปี (2576-2585) ระยะทางรวม 2,959 กม.