สนค.ชวนเข้าร่วมงานสัมมนาหัวข้อ “Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์” วันที่ 19 ก.ค. 2566 ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อนำเสนอผลการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และการเตรียมการรับมือ ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 17 ก.ค.นี้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โดยกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขันคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จัดงานสัมมนาหัวข้อ “Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ และรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
สำหรับงานสัมมนาประกอบด้วย 1. การนำเสนอผลการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และนัยต่อเศรษฐกิจไทย โดย รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ และคณะวิจัยกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. การเสวนาหัวข้อ “การเตรียมรับมือกับการแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” โดย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คุณวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการ หอการค้าไทยในจีน คุณอภิวัฒน์ ทองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสอัพ จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจ ลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/Pn7Njk8174WjkPNx9 ภายในวันจันทร์ที่ 17 ก.คง2566
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การจัดงานสัมมนาที่กำลังเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย ซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่าง สนค. กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อประเมินแนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญที่มีนัยทางเศรษฐกิจและความมั่นคง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดแนวทางของประเทศ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าที่จะเกิดขึ้น
โครงการศึกษาดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยการติดตามสถานการณ์การแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จากแหล่งข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ และผสมผสานกับองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานทั้งไทยและที่เกิดขึ้นในโลก จากการวิเคราะห์แนวโน้มการค้าและการสร้างแผนผังการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ และนำข้อค้นพบต่างๆ ร่วมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านการสัมภาษณ์ และการประชุมระดมสมอง จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่รอบด้านและนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ให้ไทยได้ประโยชน์ท่ามกลางกระแสการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน
ล่าสุด ในเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมระดมสมอง ครั้งที่ 3 ในกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ และได้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ในหลายประเด็น ดังนี้
ด้านแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีข้อเสนอแนะให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งควรมีความร่วมมือด้านการเรียนการสอนกับสถานประกอบการ โรงงาน เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองกับความต้องการของภาคการผลิต รวมถึงการให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานในสถานที่จริง ตลอดจนควรมีการปรับทักษะ (re-skill) ของแรงงานปัจจุบัน
ด้านการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2566 ได้เริ่มใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ระยะ 5 ปี (2566-70) ซึ่งนอกจากจะมีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดโอกาสด้านการลงทุนในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) แล้ว อีกส่วนที่สำคัญ คือ การเน้นปรับบทบาทของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนจากที่เป็นผู้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) และได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานนำเสนอกลไกพลังงานสะอาด หรือ Utility Green Tariff เพื่อตอบสนองนักลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้พลังงานสีเขียว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้ไทยมีแต้มต่อมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน และช่วยผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปที่จะมีการเริ่มใช้มาตรการ CBAM ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อประเด็น Circumvention (หรือการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD) และนำมาใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน โดยจะมีการตรวจสอบสินค้าหรือชิ้นส่วนนำเข้าในระดับ HS Code และนำไปเปรียบเทียบกับผลผลิตที่ได้ (Output) ว่าเข้าเกณฑ์ Circumvention หรือไม่ ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสินค้าที่อยู่ในรายการที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควรส่งเสริมการส่งออกประเภทสินค้าใหม่ๆ ที่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือเมกะเทรนด์ เช่น สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ IoTs สินค้าในกลุ่ม New s-curve และสินค้าที่ตอบสนองต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ รวมถึงการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนา
ขณะที่ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ มีข้อเสนอแนะว่า ควรจัดทำข้อมูลของประเทศคู่ค้า เช่น พฤติกรรม ความต้องการของผู้บริโภค และข้อมูลมาตรฐานสินค้าแต่ละชนิดในแต่ละตลาดเป้าหมาย รวมถึงเร่งทำ FTA กับคู่ค้าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อในการเป็น Hub ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับการส่งออกไปตลาดอียูได้เพิ่มมากขึ้น