xs
xsm
sm
md
lg

สสว. - สอวช. เผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมินผู้ประกอบการ BCG สำหรับกลุ่ม MSME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมิน BCG สำหรับ MSME ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ณ Mayfair Ballroom A ชั้น 11 โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.


รศ.ดร.วีระพงศ์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 สสว. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SME ในด้านต่าง ๆ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งภาครัฐควรสร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้ประกอบการเข้าใจแนวคิด BCG เพื่อสามารถนำไปปรับใช้ในธุรกิจได้ รวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัด BCG Indicator ซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพตนเองในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน เชื่อมโยงแหล่งทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ และสร้างโอกาสต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันต่อไป ซึ่งทาง สสว. ได้มีแนวทางการดำเนินการศึกษาและรวบรวมเครื่องมือวัด BCG

โดยบูรณาการการทำงานและผลักดันการใช้เกณฑ์ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการ ยกระดับนักพัฒนา BCG ในพื้นที่ทั้ง 5 ภูมิภาค และผลักดันให้เกิดเครื่องมือหรือหน่วยงานให้บริการรับรอง เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น โดยผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการนี้ จะได้ผู้ประกอบการและนักพัฒนา BCG ที่มีความตระหนักรู้ ถึง 1,000 ราย ล่าสุดได้สัมมนาเชิงลึกไปแล้ว จำนวน 569 ราย พร้อมได้ต้นแบบ (prototype) กรอบการประเมินตัวชี้วัด BCG Indicator ที่ได้รับการพัฒนาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและทดสอบ Test run กับกลุ่มผู้ประกอบการในแต่ละระดับ (League) ภายในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2566 นี้

“สำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่ต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยแนวคิด BCG โครงการนี้จะมีกิจกรรมการสร้างการตระหนักรู้เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลง โดยโครงการจะมีการจัดกิจกรรมทั้งแบบ Online และ On-site ทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งจะมีการเผยแพร่ช่องทางสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจหลังจบงานนี้ รวมถึงในการจัดทำ BCG Indicators เพื่อให้เป็นเครื่องมือวัดที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ จะมีการเปิด public hearing อีกครั้ง เพื่อเสนอต้นแบบที่ได้ผ่านกระบวนการ Stakeholder Consulting สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกด้านเพื่อร่วมกันเสนอความเห็นและออกแบบ BCG Indicators ที่มีประสิทธิภาพ สามารถวัดคุณลักษณะของ BCG และเชื่อมโยงกับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ นอกจากนี้ จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมแนวทางการส่งเสริม BCG กับหน่วยงานบูรณาการเพื่อหาแนวทางนำเครื่องมือวัด BCG จำนวน ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยงาน เพื่อหารือร่วมกันต่อไป” รศ.ดร.วีระพงศ์ กล่าว

 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
ด้าน ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงบทบาทของ สอวช. ในการดำเนินงานโครงการนี้ว่า สอวช. ขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายเดียวกันกับ สสว. ในโครงการฯ นี้ สอวช. มีแนวคิดในการดำเนินงานฯ หลัก คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการ BCG จากการสร้างความตระหนักรู้และการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานสำหรับ BCG ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสนับสนุนจาก สสว. และจากภาครัฐ และมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสทางการค้าและก้าวข้าม Trade Barrier ในตลาดโลก

สอวช. ได้ดำเนินงานวิจัยเชิงนโยบายร่วมกับเครือข่ายอย่าง ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาช่วยวิจัยเชิงนโยบายเพื่อออกแบบและพัฒนา BCG Indicator กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนาที่จะต่อยอดและปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจฯ และเป็น BDS ของ สสว. ต่อไป ได้ต่อยอด Circular Design Platform ที่ดำเนินการร่วมกับ Global Compact Thailand 

ที่ผ่านมานำมาจัดสัมมนาเชิงลึกสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ BCG รวมทั้งเครือข่ายตามภูมิภาคอย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาราชภัฎอุดรธานี และในรายสาขากับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กลุ่มบริษัทโซลเวย์ในประเทศไทย และบริษัทในเครือสหพัฒน์รวมถึงคณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างแนวคิดและปรับใช้ในธุรกิจ และโดยการทำงานในภาพรวมจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้งพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ/การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถและการปรับตัวเพื่อรับโอกาสได้ในอนาคต

“สอวช. ยังมีแผนการที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ผ่านการใช้นวัตกรรม ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง สอวช. และ สสว. ในการสนับสนุน MSME สู่ BCG การตระหนักรู้ของผู้ประกอบการจากโครงการนี้จะเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิด BCG และเกิด action ของผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจต่อไป และ BCG Indicators ที่เกิดขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทั้งด้านการวิจัย นวัตกรรม และการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืน”


ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “BCG Indicator เครื่องมือเพื่อการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” โดยเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาและเกณฑ์การประเมิน BCG สำหรับ MSME ในการเป็นเครื่องมือวัดผู้ประกอบการเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับ BCG ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและสามารถสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น

นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “สร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการไทยด้วย BCG โมเดล” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผอ.สสว. คุณเฉลิม โกกนุทาภรณ์ คณะทำงาน BCG Model และรองประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดร.พีรพร พละพลีวัลย์ เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) และคุณเอกชัย เอื้ออารีมิตร รองกรรมการผู้จัดการบริษัทแหลมฉบัง อิมเม็กซ์ จำกัด ดำเนินรายการโดย ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช.


กำลังโหลดความคิดเห็น