xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ถก "สายการบิน" รับโจทย์ดูแลต้นทุน-ดึงนักท่องเที่ยว-ดันตั้ง MRO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิธา” หารือกับสมาคมสายการบินประเทศไทย รับปากเป็นรัฐบาล ช่วยดูแลลดต้นทุน มาตรการด้านภาษี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่ม ดันตั้ง MRO หาแนวทางเจรจาลงทุน ยันลดค่าใช้จ่าย ต้องรอบคอบ ดูภาระทางการคลัง

วันที่ 11 ก.ค. 2566 สมาคมสายการบินประเทศไทย นัดหารือร่วมกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูธุรกิจสายการบินให้แข็งแกร่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ พร้อมรับฟังนโยบาย ปัญหา และข้อเสนอแนะ สู่การให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวเดินทางในภูมิภาค โดยมีซีอีโอและผู้บริหารรวม 7 สายการบินร่วมหารือ

ทั้งนี้ สมาคมสายการบินประเทศไทยได้เสนอข้อหารือพิจารณานโยบายที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความแข็งแกร่ง ลดข้อจำกัด และเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบค่าโดยสาร ได้แก่

1. การส่งเสริมนโยบายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เช่น การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax) ฯลฯ

2. การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินกับสายการบิน

3. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบินในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย การลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า จากการหารือ มีหลายประเด็นที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องวีซ่า กระทรวงคมนาคม เรื่องการกำกับดูแล กระทรวงท่องเที่ยวฯ และในด้านอุตสาหกรรมการบิน กรณีศูนย์ซ่อมอากาศยานที่มีเพียง 2 แห่งในประเทศ ทำให้สายการบินต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงและสูญเสียโอกาสในการบริหารฝูงบิน

โดยได้กำหนดประเด็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเมื่อได้เป็นรัฐบาล คือ 1. ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับภาษี และ 2. ต้นทุนที่เกี่ยวกับ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และ 3. การดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากขึ้น

ในด้านต้นทุน ด้านภาษีที่สายการบินต้องจ่ายและจะส่งผลต่ออัตราค่าโดยสาร ซึ่ง วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 กรมสรรพสามิต จะไม่ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุน

นอกจากนี้ยังมีภาษีสนามบิน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ พวก Operating Cost ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเรียกเก็บ ว่ามีเหตุผลอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ครั้งนี้เป็นการหารือในภาพกว้าง กำหนดประเด็นไว้ ต่อไปจึงจะลงรายละเอียด

ต้นทุนอื่นๆ ที่เป็นผลจากนโยบายกำกับดูแล เช่นการบังคับเรื่องระบบนิเวศ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า เป็นต้นทุนถึง 15-20% จะดูว่าสูงไปหรือไม่ และสามารถผ่อนผันปรับลดลงได้อย่างไร

ในด้านรายได้สายการบิน จะเป็นเรื่องการกระตุ้นท่องเที่ยว การเปิดให้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวจาก 3 ประเทศ คือ อินเดีย เกาหลีใต้ จีน จะต้องดูเรื่องการเจรจาการบินระหว่างกันที่สมดุล และเหมาะสม ยุติธรรม รวมไปถึงมาตรการฟรีวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายพิธากล่าวว่า กรณีศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่มีเพียง 2 แห่งซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า ปัญหาที่ผ่านมาจัดตั้งไม่ได้เป็นเพราะอะไร ซึ่งการซ่อมบำรุงคิดเป็นต้นทุน ถึง 17% ของสายการบิน การผลักดัน MRO ที่ผ่านมา โดยสายการบินแห่งชาติ และบริษัทแอร์บัส ต้องพูดคุยกันอย่างละเอียดอ่อนต่อไป ว่ามีวิธีคิดและมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ที่ผ่านมาถือว่าสูญเสียโอกาสในทางธุรกิจด้านซ่อมบำรุงให้ต่างชาติไปพอสมควร แนวทางจากนี้อาจจะเป็นการเจรจาทั้งแบบ B2B หรือ G to G ก็ได้

นายพิธากล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติค่าเหยียบแผ่นดินว่า เรื่องนี้จะต้องดูในรายละเอียด ทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว พิจารณาถึงรายได้ของประเทศ รวมถึงพิจารณาถึงภาระทางการคลังด้วย

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV กล่าวว่า การหารือหลักๆ คือ เรื่องการลดต้นทุนต่างๆ และการเพิ่มนักท่องเที่ยว 
ซึ่งการเดินทางทางอากาศถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ เพราะเป็นผู้เชื่อมต่อการสร้างและกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของสายการบิน และการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ การหารือร่วมกันในวันนี้จะทำให้ว่าที่รัฐบาลใหม่เห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจการบินในทุกมิติ แผนการฟื้นตัว และข้อเสนอเร่งด่วน โดยสมาคมสายการบินประเทศไทยยืนยันความพร้อมเต็มที่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น