xs
xsm
sm
md
lg

“กนอ.” จับมือ “NIA” ปั้นระบบนิเวศเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลุยปั้นนิคมอุตสาหกรรมเวอร์ชันใหม่ ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA เพื่อสร้างระบบนิเวศเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคต ให้สังคมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือเพื่อพัฒนาและส่งเสริมด้านนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA ว่า ความร่วมมือระหว่าง กนอ.กับ สนช.ครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Model) การจัดทำแผนการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่สำนักงานใหญ่ของ กนอ. นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนในอนาคต โดยการศึกษาแนวทางการพัฒนาศักยภาพของระบบนิเวศนวัตกรรม ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ เครือข่ายนวัตกรรม เศรษฐกิจนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และข้อมูลนวัตกรรม รวมทั้งการกระตุ้นตลาดนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการกระจายตัวของนวัตกรรม ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“การที่จะเป็นเมืองนิเวศนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จได้ มาจากหลายๆ องค์ประกอบที่ทำงานสอดประสานกันเป็นระบบนิเวศ กนอ.ตั้งเป้าสู่การเป็นเมืองนิเวศนวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ จึงวางรากฐานให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ (Smart Innovation Ecosystem) ประกอบด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกฝ่ายในการทำงานสอดประสานเพื่อให้เกิดเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีหมุดหมายสำคัญเพื่อทำให้สังคมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอนาคตจึงเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม การสร้างกำลังคนและการขยายผลทางนวัตกรรม ซึ่งการลงนามร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area - based Innovation) เพื่อพัฒนาให้เกิด Area of Innovation ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน

สำหรับกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ กนอ. จะสนับสนุนการดำเนินการ และอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น ประสานงานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการเข้าเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรม ให้ความร่วมมือจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็น จัดเตรียมสัมมนา หรือสัมมนาออนไลน์สำหรับการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ และร่วมออกแบบแนวทางและแผนการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ ขณะที่ สนช.จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม สนับสนุนแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ โดยการเสนอแนะและถ่ายทอดงานด้านนวัตกรรมลงสู่พื้นที่เป้าหมายตามที่ตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน (Co-Creation) และร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 หน่วยงาน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ถึง 9 กรกฎาคม 2569
กำลังโหลดความคิดเห็น