xs
xsm
sm
md
lg

5 หน่วยงานร่วม MOU ยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์สู่นวัตกรรมสมัยใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว.จับมือ บพข. สนช. สยย. และ EVAT ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือ สนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จับมือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อให้เกิดกิจกรรมในการขับเคลื่อนการยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ กล่าวว่า สกสว. และหน่วยงานภาคีอีกทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ Startup และ SME เร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้สามารถเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้ในตลาดอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อไป 


นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการและเลชานุการร่วมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานในประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2022 ไทยผลิตรถยนต์ 1.88 ล้านคัน มากเป็นอันอันดับ 10 ของโลก แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 0.85 ล้านคัน ส่งออก 1.00 ล้านคัน โดยคาดว่าในปี ค.ศ. 2023 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการตลาดในประเทศ 0.90 ล้านคัน ส่งออก 1.05 ล้านคัน

แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในและภายนอกหลายประการ อาทิ การมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ดังนั้น ด้วยความท้าทายดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้ความเข้มแข็งต่อยอดสิ่งใหม่ๆ จากการทำวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัยอย่างใกล้ชิด ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมมือพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไปได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น