xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ส่งเสริมการกระตุ้นแรงจูงใจของนักลงทุนญี่ปุ่น จัด Roadshow สนับสนุนการลงทุนในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการกระตุ้นแรงจูงใจของนักลงทุนญี่ปุ่น จัด Roadshow สนับสนุนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก คาดกิจกรรมครั้งนี้ดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท

วันนี้ (4 ก.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผลักดันการจัดกิจกรรม Roadshow สนับสนุนการลงทุน และชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเพิ่มเติม ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำคณะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคมอุตสาหกรรม เข้าร่วมกิจกรรม Roadshow ส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึงมีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ของประเทศไทย และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น กิจกรรมการออกบูธนิทรรศการของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม การดำเนินการสื่อสารด้านการตลาด และแนวทางการกระตุ้นการลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในอนาคต
นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ 3,700 ล้านบาท โดยมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ New S-curve โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก พร้อมชักจูงให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่โดดเด่นและเป็นหัวใจหลักของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ รัฐบาลได้ดำเนินการกระตุ้นแรงจูงใจของนักลงทุนญี่ปุ่นในการขยายการลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอุตสาหกรรมดั้งเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC และพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยและอุปสงค์ในตลาดไทยด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น