ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ พ.ค. 66 มูลค่า 794.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.87% หลังตลาดส่งออกสำคัญ และหลายสินค้าส่งออกได้เพิ่มขึ้น หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,041.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.67% ยอด 5 เดือนไม่รวมทองคำเพิ่ม 5.24% หากรวมทองคำลด 15.24% คาดแนวโน้มส่งออกยังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน จีน ญี่ปุ่น ชี้เป้าเครื่องประดับแฟชั่น รักษ์โลกยังเติบโตสูง แนะใช้ออนไลน์ช่วยทำตลาด
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพ.ค. 2566 มีมูลค่า 794.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.87% กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากชะลอตัวลงในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย.ที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดกลับมาฟื้นตัวเพิ่มขึ้น หลายสินค้าส่งออกได้มากขึ้น แต่หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,041.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.67% และรวม 5 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 3,461.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.24% และรวมทองคำ มูลค่า 6,432.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.24%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยฮ่องกง เพิ่ม 143.29% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.40% อิตาลี เพิ่ม 49.16% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 44.58% สิงคโปร์ เพิ่ม 91.36% ส่วนสหรัฐฯ ลดลง 6.70% เยอรมนี ลด 17.06% สหราชอาณาจักร ลด 18.82% สวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 7.67% อินเดีย ลด 68.79%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญก็มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 33.95% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 34.48% พลอยก้อน เพิ่ม 25.86% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 80.83% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 140.45% เพชรก้อน เพิ่ม 39.26% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 18.65% เพชรเจียระไน ลด 35.49% เครื่องประดับเทียม ลด 14.93% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 20.57% และทองคำ ลด 30.91%
นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไป ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยสหรัฐฯ เศรษฐกิจชะลอตัวลง ธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่งถูกลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ทำให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวช้า ยูโรโซนได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน และเงินเฟ้อ แม้ขณะนี้จะเริ่มดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยังซึมตัว จีน ที่เปิดประเทศแล้ว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอและฟื้นช้า ญี่ปุ่น ที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มีเพียงยอดค้าปลีกที่เติบโต แต่อุตสาหกรรมยังหดตัว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมการบริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลกยังไม่แน่นอน แต่จากการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติของผู้คนทั่วโลก ทำให้การบริโภคเครื่องประดับที่เข้ากับแฟชั่น โดยเฉพาะที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันยังเติบโตได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเป็นสินค้ารักษ์โลก ที่ไม่เพียงเป็นกระแสที่คนทั่วโลกใส่ใจ แต่จากการสำรวจของ PwC พบว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นราว 5% สำหรับสินค้าดังกล่าว รวมถึงช่องทางออนไลน์ยังเป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาสินค้า เปรียบเทียบราคา และรีวิวต่างๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ การใช้แนวทางการตลาดคู่ขนานทั้งออนไลน์และออนไซต์ จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกัน และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค และจะมีผลต่อการกระตุ้นยอดขายที่เพิ่มขึ้น