9 ผู้ทรงคุณวุฒิวงการศิลปะร่วมตัดสินการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต” ลุ้นผลงานใดจะได้รางวัล 14 ก.ค.นี้
ตัดสินกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประกวดศิลปกรรม ปตท. ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต” ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ผ่านผลงานศิลปะทุกประเภท ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และผลงานสร้างสรรค์ทางด้านทัศนศิลป์อื่นๆ
ล่าสุดได้มีการคัดเลือกผลงานและตัดสินจากคณะกรรมการทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร , ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง , ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ญาณวิทย์ กุญแจทอง , ศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ , ดร.สังคม ทองมี , ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ , นายระยอง ยิ้มสะอาด , อาจารย์พีระพงษ์ ดวงแก้ว และ อาจารย์ธงชัย รักปทุม ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนได้ผลงานที่เข้ารอบและได้รางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในปีนี้ทางโครงการได้เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 12-21 มิ.ย. มีผู้เข้าร่วมส่งผลงานมากกว่า 800 ชิ้น ทั้งระดับเยาวชน 3 รุ่น ได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 9 ขวบ , กลุ่มอายุ 9-13 ปี และกลุ่มอายุ 14-18 ปี และระดับประชาชนทั่วไป โดยมีเงินรางวัลตั้งแต่ 7,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท พร้อมทั้งได้รับสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ อีกด้วย
สำหรับหัวข้อ “จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต” ที่ใช้ในการประกวดปีนี้ก็สืบเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั้งโลกไปโดยสิ้นเชิง ความท้าทายของโลกอนาคต คือ การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดในทุกมิติ เช่นเดียวกับไทยที่กําลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูหลังวิกฤต ประชาชนจึงเริ่มกลับมามีพลังกายและพลังใจ ปรับตัว ลุกขึ้นใหม่พร้อมความหวังอีกครั้ง
ในปี 2566 ปตท.ซึ่งก้าวเข้าสู่ปีที่ 45 ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่อยู่เคียงข้างคนไทยข้ามผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทาย และโอกาส ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานและริเริ่มธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานเพื่อจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการทํางานเพื่อสิ่งแวดล้อม มอบคุณค่าตอบแทนสังคม พัฒนาศักยภาพความยั่งยืนของธุรกิจด้วยความหวังที่จะเห็นทุกคนกลับมามีพลัง ข้ามผ่านวิกฤตหลังโควิด-19 ครั้งนี้ไปพร้อมกัน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิตร ราชบัณฑิต หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวถึงการประกวดศิลปกรรม ปตท.ครั้งที่ 38 ว่า ปีนี้มีผลงานที่คุณภาพไล่เลี่ยกัน อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ อาจจะเป็นเพราะปีนี้หัวข้อ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ค่อนข้างเปิดกว้างคนที่ทำงานศิลปะก็จะสะดวกในการที่จะคิด ที่จะทำ อย่างคำว่า จุดประกายความหวัง ก็คือเรื่องที่เราคาดการณ์ในอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไร หลังจากผ่านพ้นจากวิกฤตการณ์และความอึดอัดจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา มันก็ทำให้เขาได้ซุ่มผลิตผลงานที่ประณีตมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับรางวัลก็ได้ส่งงานเข้ามาที่มีความละเอียดในฝีมือมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าเขามีความตั้งใจมากๆ สำหรับงานนี้
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า สำหรับงานครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก เป็นตัวบ่งชี้ที่ทำให้เห็นว่างานศิลปะอยู่ในชีวิตของทุกๆ คน แต่ต้องให้โอกาสในการสร้างกิจกรรมทางศิลปะ ซึ่งทาง ปตท.ก็ได้ให้การสนับสนุนขึ้นมา โดยมีจุดเด่นในการให้หัวข้อที่เป็นโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมได้ระเบิดความในใจของตัวเองออกมาร่วมแข่งขัน ทั้งนี้ กรรมการตัดสินได้ใช้วิธีการคัดกรองขั้นต้นผ่านความคิด รูปแบบเนื้อหา ก่อนจะเข้าสู่การวิพากษ์ว่าผลงานของใครสมควรจะได้รับรางวัล โดยจะดูองค์ประกอบจากรูปแบบ เทคนิค วิธีการ เนื้อหา ทักษะพิสัย ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การใช้วัสดุเทคนิค ชิ้นงานไหนลงตัวเป็นเอกภาพที่สุดก็ตัดสินให้รางวัล
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สำหรับปีนี้ภาพรวมในระดับเยาวชนมีผลงานที่ดีมาก วิธีการใช้สี การเสนอเรื่องราวค่อนข้างจะแยบยลในแต่ละคน ก็ค่อนข้างจะคัดเลือกยากพอสมควรเพื่อให้เหลือชิ้นงานที่ตรงกับหัวข้อและความหมายในการแสดงออก โดยหัวข้อ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ในปีนี้เป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อเตือนสติ เติมกำลังใจแก่ผู้เข้ามาชมผลงาน
ซึ่งผู้ส่งผลงานส่วนใหญ่ก็ตรงตามหัวข้อ ก็จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ครอบครัว ศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อมองถึงรายละเอียดจะเห็นถึงความอบอุ่น สีสัน บรรยากาศ ที่เราดูแล้วสัมผัสได้ เป็นมุมมองที่เขามองเห็นแล้วนำเสนอออกมาเป็นผลงาน ซึ่งผลงานค่อนข้างสูสี บางคนเนื้อหาดี บางคนความคิดสร้างสรรค์ วิธีการนำเสนอดี จนคัดเลือกยาก ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดู เว้นบางภาพที่มีเนื้อหาส่วนตัวมากเกินไปก็อาจไม่เข้าตากรรมการในการคัดเลือก ทั้งนี้ตนอยากให้กำลังใจผู้เข้าร่วมการประกวดบางคนที่ส่งผลงานมาแล้วอาจจะไม่ได้ร่วมแสดง หรือ ไม่ได้รับรางวัล ก็อยากจะให้มีความพยายาม มุ่งมั่นในการฝึกฝน การพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 14 ก.ค. 2566 ทาง www.pttplc.com และจะมีพิธีมอบรางวัลและการแสดงผลงานในโอกาสต่อไป