กรมเจ้าท่าแจงเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือสำราญเมืองพัทยา มูลค่า 7.4 พันล้านบาท ฟังความเห็นนักลงทุน ดันผลศึกษา PPP เสนอ สคร.ในปีนี้ เผยเอกชนสนใจร่วมทุน ก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2570 ดึงเม็ดเงินนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก
วันที่ 29 มิ.ย. 2566 นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือ (Technical Hearing) โครงการศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน (ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี) โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ท่านเข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีข้อซักถาม และรับฟังความคิดเห็น ถึงรูปแบบ การออกแบบ รายละเอียดต่างๆ และผลกระทบระหว่างก่อสร้าง ซึ่งที่ปรึกษาจะได้นำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการก่อสร้าง และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมชี้แจงและทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding) ด้วย
นายวรรณชัยกล่าวว่า โครงการศึกษาพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) บริเวณอ่าวไทยตอนบน ซึ่งได้ข้อสรุปการคัดเลือกพื้นที่ คือ บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และหลากหลาย ดึงดูดให้มีผู้โดยสารมาใช้ท่าเรือสำราญ โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน
กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซี สเปคตรัม จำกัด จำกัด/ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด/ บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด/ และบริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด วงเงิน 68 ล้านบาท ทำการออกแบบเบื้องต้น การศึกษาความเหมาะสม การสำรวจออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2566 จากนั้นจะสรุปนำเสนอกระทรวงคมนาคม และนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ภายในปี 2566
ตามแผนงานคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนฯ ในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดเปิดให้บริการในปี 2570 กำหนดระยะเวลาสัญญาดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี โดยรูปแบบการลงทุนท่าเรือสำราญพัทยา เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน (PPP) โดยภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเทียบเรือ และทางเข้า ส่วนเอกชนอาจจะลงทุนในส่วนของอาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขณะที่รายได้จากการให้บริการท่าเรือไม่มากเพียงพอ ซึ่งจะมีการพัฒนาหรือให้มีกิจกรรมในบริเวณท่าเรือเพื่อหารายได้เพิ่ม
โดยเป็นการก่อสร้างท่าเรือใหม่ห่างจากชายฝั่งลงไปในทะเลประมาณ 1 กม.เพื่อลดการเวนคืนที่ดินให้มากที่สุด และยังสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ ที่ความลึกร่องน้ำประมาณ 12-14 เมตร สามารถ รองรับเรือสำราญขนาดระวางบรรทุก 236,000 ตันกรอส ได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือรวม 420 เมตร ส่วนอาคารผู้โดยสาร รองรับได้ 3,500-4,000 คน/เที่ยว มีโถงพักคอย มีจุดตรวจความปลอดภัย จุดเช็กอินรับบัตรโดยสาร 60 ช่อง จุดตรวจคนเข้าเมือง 26 ช่อง จุดฝากสัมภาระ อาคารและลานจอด รองรับรถยนต์ได้ 132 คัน และรถบัส 82 คัน
เบื้องต้นประมาณการค่าลงทุนรวม 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ค่าลงทุน 5,934 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่ง 4,315 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ อาคารผู้โดยสาร 2,881 ล้านบาท สะพานเชื่อมท่าเรือ 675 ล้านบาท ลานจอดรถ 567 ล้านบาท ท่าเรือโดยสาร และเรือเร็ว 192 ล้านบาท) ค่าอุปกรณ์ 400 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 608 ล้านบาท และถนนยกระดับ 1611 ล้านบาท 2.ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท
โดยขอบเขตการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน แบ่งเป็นรัฐลงทุน รวม 5,534.56 ล้านบาท (66%) ก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่ง และเอกชน ลงทุน 1,877.66 ล้านบาท (34%) เครื่องมือและอุปกรณ์และบริหาร 30 ปี มีอัตราผลตอบแทน 20% ระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 10 ปี
การศึกษาคาดการณ์จำนวนเที่ยวเรือในปี 2570 ประมาณ 60 เที่ยวต่อปี และเพิ่มเป็น 100 เที่ยวในอีก 10 ปี (ปี 2580) โดยคาดการณ์สัดส่วนรายได้จากการดำเนินงานท่าเทียบเรือ 73% (3,730 ล้านบาท ) ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจอดเรือ ค่าธรรมเนียมผ่านท่า, รายได้จากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ 27% (1,390 ล้านบาท) ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าที่จอดรถ ค่าเช่าที่จอดเรือเฟอร์รี และสปีดโบ๊ต
กรมเจ้าท่ามีการศึกษาพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จำนวน 3 โครงการ ในรูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน ได้แก่ 1. ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสรุปผลการศึกษาเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และสคร. 2. ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา คาดสรุปผลการศึกษาในปีนี้ 3. ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ อ่าวแหลมป่อง จังหวัดกระบี่ อยู่ระหว่างการศึกษา
“จากการศึกษามีเอกชนจำนวนมากที่แสดงความสนใจลงทุน ทั้งผู้ประกอบการท่าเรือ สายเดินเรือจากทั่วโลก เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จากสถิติไทยอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชียที่มีเรือสำราญเข้าเทียบท่า
วัตถุประสงค์ในการพัฒนาเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งทางน้ำ และท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ประเทศจากกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงระดับสูง โดยปัจจุบันมีเรือสำราญแวะมาประเทศไทยประมาณ 500 เที่ยวต่อปี แต่หากเป็นเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าเรือได้เพราะติดปัญหาร่องน้ำ จึงต้องทอดสมอห่างชายฝั่ง ต้องใช้เรือเล็กขนถ่ายผู้โดยสารเข้าฝั่ง ทำให้ไม่สะดวกสบาย ขณะที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบนมีท่าเรือที่สายการเดินเรือสำราญสามารถเข้ามาแวะพักได้เพียง 2 ท่า คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง แต่มีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น